
ตอบโจทย์แก้ใบไม้ร่วง “กระถางใบยางนา” ลด PM 2.5
นักเรียน “เขาใหญ่-ปากช่อง” ร่วมเวิร์กช้อปเพียบ
ป็นอีกหนึ่งไอเดียสุดแสนจะสร้างสรรค์ มีประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม สำหรับ “กระถางใบยางนาลด PM 2.5” ผลงานดีๆ จากวิทยาลัยเทคนิคสารภี จ.เชียงใหม่ ที่ตอนนี้มีคนสนใจเชิญชวนให้เดินสายไปเวิร์กช้อปหลายแห่ง
ในโอกาสที่ปี 2568 นี้ ชมรมฮักเขาใหญ่ ก่อตั้งครบรอบ 10 ปี จึงได้เชิญคณะครูและนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสารภี จังหวัดเชียงใหม่มาร่วมจัดกิจกรรมในการส่งเสริมเรียนรู้ให้กับเครือข่ายเด็กเยาวชนในพื้นที่เขาใหญ่ ปากช่อง โดยงานนี้ได้ร่วมกับสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารอำเภอปากช่อง สถาบันการศึกษา บ้าน วัด และโรงเรียน โดยตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ในช่วงหน้าแล้ง ที่จะมีการเผาป่า เผาเศษใบไม้แห้งเป็นจำนวนมาก
งานนี้วิทยาลัยเทคนิคสารภียกเครื่องอัดกระถางใบยางนา มาตั้งไว้ที่ศาลาเอนกประสงค์ วัดหมูสี ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อให้นักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมได้เห็นกันชัดๆ ทุกขั้นตอน

อ.ปณิพนธ์ พานิช อายุ 30 ปี อาจารย์แผนกวิชาช่างยนต์เล่าว่า เศษใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นมามหาศาลในช่วงหน้าแล้งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เป็นต้นตอของฝุ่น PM 2.5 ชาวบ้านไม่รู้จะกำจัดยังไงก็ใช้วิธีเผา เพราะง่ายที่สุด บางคนก็ไปส่งเสริมเรื่องการทำปุ๋ยหมัก แต่ปุ๋ยหมักก็จะมีรายละเอียดว่าใบอะไรมีสารอาหารประเภทไหน ต้องมีการไปตรวจ ดังนั้นโครงการทำกระถางจากใบยางนาจึงเป็นอีกทางแก้ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกระถางได้ด้วย
ระหว่างอธิบาย อ.ปณิพนธ์พาเดินชมเครื่องอัดกระถางใบไม้ต้นแบบที่ทำจากวัสดุที่เหลือจากการทำงานของเด็กแผนกช่างยนต์ แต่ถ้าให้คิดเป็นต้นทุนจะอยู่ที่เครื่องละไม่เกิน 20,000 บาท

กรรมวิธีการทำกระถางสักหนึ่งใบนั้นดูแล้วไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะมีการแบ่งหน้าที่กันทำเป็นแผนกชัดเจน เริ่มจากแผนกย่อยใบไม้ แผนกต้มแป้ง แผนกนวดแป้งผสมใบไม้ แผนกขึ้นรูป ทั้งหมดนี้นอกจากได้เรียนรู้กระบวนการวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้ฝึกหัดการทำงานเป็นทีม เมื่อสังเกตไปที่แววตาของเด็กๆ พบว่ามีกระตือรือร้นในการเรียนรู้อย่างมาก นี่เองที่เป็นการช่วยปลูกจิตสำนึกให้เด็กทีละน้อย
อ.ปณิพนธ์บอกว่า เครื่องนี้สามารถทำกับใบไม้แห้งได้ทุกชนิด วิธีทำ คือ ต้มแป้งมันสำปะหลัง แล้วเอามาขยำกับใบไม้แห้งที่ย่อยแล้ว ใบไม้จะปั่นให้ละเอียดมากหรือน้อยแล้วแต่ชื่นชอบในลวดลาย ถ้าอยากได้ลายใบไม้ก็ไม่ต้องละเอียดมาก เมื่อขยำนวดให้เป็นก้อนแล้วก็นำมาชั่งตวงให้ได้น้ำหนักตามที่กำหนดไว้แล้วนำมาอัดขึ้นรูป แล้วตากทิ้งไว้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง กระถางก็เซตตัว
“กระถางที่ได้ สามารถเอาไปปลูกต้นไม้โชว์ หรือปลูกลงดินได้หมด ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศที่ใช้น้ำไม่มาก กระถางนี้ถ้าไม่โดนน้ำหรือใช้ปกติ 1 ปีก็อยู่ได้ บางคนอาจจะกังวลเรื่องเชื้อรา เราเลยลองเอากากกาแฟใส่ลงไป แค่นี้ก็กันเชื้อราและมดแมลงได้แล้ว”

สำหรับโครงการกระถางใบยางนาของวิทยาลัยเทคนิคสารภี มีที่มาจากวิทยาลัยตั้งอยู่บนถนนที่มีต้นยางเยอะมาก นักเรียนที่ทำโปรเจ็คต์จบเลยปิ๊งไอเดียขึ้นมา แล้ววิทยาลัยก็นำมาปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้น เป็นโครงการที่เน้นแก้ใบไม้ร่วงช่วงหน้าแล้ง เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น
อ.ปณิพนธ์ บอกว่า เราทำมาประมาณ 3 ปีแล้ว ตอนนี้มีหลายโรงเรียนเข้ามาเรียนรู้กับเรา ในพื้นที่จะรู้อยู่แล้วว่าเราทำเครื่องนี้ขึ้นมา ทางเทศบาล อบจ. ก็มาร่วมกับเรา เพื่อลดการเผา มีโครงการให้ชาวบ้านนำใบไม้มาให้ เราก็ทำเป็นกระถางกลับคืนให้ชาวบ้าน เป็นการเพิ่มมูลค่า และตอนนี้เรามีเครือข่ายร่วมกับชุมชน เทศบาลตำบลหนองผึ้ง อ.สารภี โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใกล้ๆ ในพื้นที่ และสมาคมยางนาขี้เหล็กสยามแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ ส่วนโรงเรียนไหนที่อยู่นอกพื้นที่อยากจะเรียนรู้ ก็สามารถติดต่อมาที่วิทยาลัยได้
ทำกระถางจากเศษใบไม้ในตอนนี้ แม้ว่าต้นทุนการทำจะยังสูง แต่เมื่อฝุ่น PM 2.5 คือ วาระสำคัญของชาติ การผลักดันให้เกิดการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นวิธีใด เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมกันทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่ออากาศสะอาดสำหรับเราทุกคน