
The Biggle Big Band
วงแจ๊ซระดับโลกจากเนเธอร์แลนด์ทัวร์คอนเสิร์ตทั่วไทย และกัมพูชา
หากคุณเป็นแฟนดนตรีแจ๊ซ คงต้องตื่นใจเมื่อรู้ว่าจะมีลงแจ๊ซแบบบิ๊กแบนด์มาจัดแสดง เพราะว่าในเมืองไทยนั้นแทบไม่มีให้ได้ชมเลย ไม่ว่าจะเป็นในร้านแจ๊ซดังๆ ในโรงแรมหรูหรือย่านท่องเที่ยวราคาแพง ด้วยเพราะจำนวนนักดนตรีที่มากกว่า 20 ชีวิต ทำให้สถานบันเทิงที่มีพื้นที่จำกัดจึงไม่เพียงพอต่อปริมาณศิลปินที่มากขนาดนี้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงค่าจ้างในแต่ละครั้งย่อมเกินเลยขอบเขตธุรกิจจะรับไหว หรือไม่ว่าในสถานศึกษาที่เน้นสอนดนตรีโดยเฉพาะก็ไม่มีการจัดแสดงแบบบิ๊กแบนด์ให้เห็นสักเท่าใดนัก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ 3 ชิ้นแบบทรีโอ ก็ 4 ชิ้นแบบควอร์เท็ต
ยิ่งไปกว่านั้น วงที่มาจัดแสดงยังบินตรงจากอัมสเตอร์ดัม มีสมาชิกถึง 24 ชีวิต (ไม่นับทีมแสงสีเสียง วิดีโอ และทีมดูแล) ประกอบไปด้วย วาทยกร 1 นักร้อง 1 แซกโซโฟน ฟลุต คลาริเน็ต 5 ทรอมโบน 4 กีตาร์ 1 เปียโน 1 เบส 1 กลองชุด 1 ไวโอลิน 2 วิโอลา 1 และเชลโล 1 เป็นวงบิ๊กแบนด์ของแท้ และที่สำคัญพวกเขารวมตัวกันเล่นสวิงแจ๊ซ โดยเล่นเพลงของเกล็นน์ มิลเลอร์ ทอมมี่ ดอร์ซีย์ เคานต์ เบซี ดุ๊ก เอลลิงตัน ควินซี่ โจนส์ เป็นต้น ส่วนเพลงแจ๊ซที่มีนักร้องก็จะเล่นของแฟรงค์ ซินาตรา และดีน มาร์ติน
วงดนตรีระดับโลกนี้ก็คือ The Biggles Big Band ปกติทำการแสดงทุกวันจันทร์ที่ร้าน Casablanca Café ใจกลางกรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นเวลาถึง 40 ปี ก่อตั้งในปี 1985 โดยมี Adrie Braat หรือชื่อแบบไทยๆ ว่า “อารี” เป็นผู้นำวงและวาทยกร และอารีก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการนำสมาชิกบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจัดแสดงทั่วประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2552 ตระเวนไปยังอยุธยา สุโขทัย เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ และหัวหิน ซึ่งพอการมาตระเวนทัวร์ครั้งแรกประสบความสำเร็จ “อารี” ก็นำทีมบินกลับมาทุกปี และรายได้จากการแสดงทุกครั้งก็มอบให้กับเด็กด้อยโอกาสในเมืองไทย นับเป็นวงดนตรีจิตอาสาระดับโลกที่มีความผูกพันกับคนไทยอย่างแน่นแฟ้น
โดยวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งวงนี้ สอดคล้องกับวีรกรรมการผจญภัยของหนังสือชุด The Biggles ที่เขียนโดย W. E. Johns ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หนังสือชุด 100 กว่าเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ “อารี” ตั้งชื่อวงของเขา เพราะว่า “บิ๊กเกิลส์” ตัวเอกของเรื่องจะบินไปช่วยเหลือคนที่กำลังตกอยู่ในอันตรายได้อย่างทันท่วงทีเสมอ ไม่ต่างจากเหล่านักดนตรีที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเล่นดนตรีที่เขารัก และร่วมสมทบทุนบริจาคให้กับเด็กผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย

“อุตสาหกรรมของประเทศเรามีความหลากหลาย คลาสสิค ป๊อป แจ๊ซ โดยเฉพาะดนตรีแนวอิเล็กเล็กทรอนิกส์ มีดีเจที่มีชื่อเสียงมาทำการแสดงในไทย แต่สถานทูตไม่ได้มีโอกาสดูแลนักดนตรีเหล่านี้นัก เพราะมีค่าตัวสูงมาก (เสียงหัวเราะของผู้ฟัง) ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของงานการทูต เราจึงพยายามจัดงานดนตรีให้ได้มากที่สุด เพราะเราเชื่อว่า ดนตรีคือภาษาสากล และดนตรีก็ช่วยเชื่อมโยงผู้คน เชื่อมโยงประเทศ และบางครั้งก็เชื่อมโยงนักเรียนนักศึกษาเข้าด้วยกัน โดยส่วนตัวนี่เป็นงานส่วนหนึ่งที่ผมชอบที่สุด และนี่คือเหตุผลที่ The Biggles Big Band มาที่นี่”
นี่คือคำกล่าวของ นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ในพิธีเปิดทัวร์คอนเสิร์ตไทยและกัมพูชาของวง The Biggles Big Band ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลังจากพิธีเปิดวง The Biggles Big Band ก็ได้เปิดตัวนักร้องคนใหม่ หนุ่มหล่อเสียงดีคนนี้คือ ออสการ์ โรเดนเบอร์ก
เพลงแรกที่เขาร้องคือ I’ve Got You Under My Skin ของ แฟรงค์ ซินาตรา เสียงร้องที่เปล่งออกมาจากช่องท้องของเขาทรงพลัง ชัดถ้อยชัดคำ สายตาที่มุ่งบวกกับบุคลิกมีเสน่ห์ ทำให้น้องร้องหนุ่มในชุดสูทลินินสีครีมดูโดดเด่นราวกับมีแสงจากสปอตไลต์ส่อง ทั้งที่เป็นแสงจากไฟนีออนธรรมดาในห้องโถงของเรือนปั้นหยาภายในสถานทูต
นอกจากนี้ ออสการ์ โรเดนเบอร์ก ยังโชว์ความสามารถ ร้องเพลง La Mer ของชาร์ล เทรเนต์ เป็นภาษาฝรั่งเศสด้วย สร้างความทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคน

ในการทัวร์คอนเสิร์ตใน พ.ศ.2568 ครั้งนี้ของวง The Biggles Big Band มีตารางความสนุกรื่นีรมย์ดังต่อไปนี้
- 7 กุมภาพันธ์ 2568 - โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ หัวหิน
- 8 กุมภาพันธ์ 2568 - เดอะ แพนดอร่า แคมป์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
- 9 กุมภาพันธ์ 2568 - Korat Jazz Festival 2025 ตลาดเมย์แฟร์ จ.นครราชสีมา
- 10 กุมภาพันธ์ 2568 - มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จ.ขอนแก่น
- 12 กุมภาพันธ์ 2568 - จ.ร้อยเอ็ด
- 14 กุมภาพันธ์ 2568 - ร้านพันวา เฮาส์ จ.อุบลราชธานี
- 15-16 กุมภาพันธ์ 2568 - Surin Music Jazz Festival 2025 ลานหน้าโรงแรมทองธารินทร์ จ.สุรินทร์
- 19-20 กุมภาพันธ์ 2568 - จ.แกบ ประเทศกัมพูชา
- 22 กุมภาพันธ์ 2568 - กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
- 23 กุมภาพันธ์ 2568 - จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

สำหรับที่เขาใหญ่นั้น The Biggles Big Band ทำการแสดงที่เดอะ แพนดอร่าแคมป์ ในห้องคอนเสิร์ตมีการเตรียมโต๊ะจีนให้กับแขกที่จองล่วงหน้า เป็นบรรยากาศอีสต์มีทเวสต์ที่ดูกระอักกระอ่วนในทีแรก แต่ก็คงตัวแบบไม่น่าเชื่อ
พิธีกรรมก่อนการแสดงก็ไม่ได้เยิ่นเย้อ โดยมีนายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวเปิดสั้นๆ กระชับๆ แล้วต่อด้วยการบรรเลงเพลงจังหวะสนุกๆ สไตล์อีสานขนานแท้ของวงโปงลางจากโรงเรียนบ้านโนนตาล อำเภอขามทะเลสอ
สาวน้อยมือโหวดออกมากโซไล่โชว์ทักษะมือหนึ่งถือไมค์อีกมือหมุนโหวดพร้อมเป่าพลิ้วไปตามโน้ตต่างๆ อย่างคล่องแคล่วและไพเราะ ทำเอามือเครื่องเป่าจากอัมสเตอร์ดัมถึงกับอึ้ง พากันเดินมาดูใกล้ๆ และบันทึกวิดีโอกันยกใหญ่
หลังจากวงเปิดเล่นจบลง วงจริงบิ๊กแบนด์ก็ทยอยขึ้นเวที ออสการ์ โรเดนเบอร์ก ขับกล่อมด้วยเพลง My Way ของแฟรงก์ ซินาตรา เพลง Wonderful World ของหลุยส์ อาร์มสรอง เพลง La Mer ของชาร์ล เทรเนต์ หลังจากนั้นลงก็เล่นเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต และใกล้รุ่ง โดยในเวสชั่นนี้มีน้องเฟิร์ส หรือนายสมศักดิ์ ชัยมา จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรี หัวหน้าวง Thai Blind Orchestra มาร่วมแจมคีย์บอร์ดด้วย ซึ่งทางมิสเตอร์อารีได้เปิดโอกาสให้เฟิร์สโซโล่โชว์พรสวรรค์ด้านดนตรีอย่างเต็มที่
และระหว่างที่พักเบรกช่วงแรก ได้มีการจัดเวทีประมูลภาพเขียนของคุณสุรินทร์ สนธิระติ หรือที่ชาวเขาใหญ่รู้จักดีในนาม “ลุงน้อย” เจ้าของสวนซ่อนศิลป์ ซึ่งเป็นไปด้วยความสนุกสนานและได้ทำบุญร่วมกัน เพราะเงินที่ได้จากกการประมูลจำนวน 60,000 บาทนั้น ได้มอบสมทบกับเงินค่าขายบัตรเข้าชมการแสดงของวง The Biggles Big Band ทั้งหมด โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายอะไรทั้งสิ้น เช่นเดียวกับคุณต้นตระกูล กริชพิพรรธ ที่นำไวน์จากไร่องุ่นไวน์อัลซิดินี่มาจำหน่าย สมทบไปด้วยทั้งหมด
โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ คณะ The Biggles Big Band ก็ได้เดินทางไปที่โรงเรียนสอนคนตาบอดมกุฎคีรีวัน และมอบเงิน 70,000 กว่าบาทที่ได้จากการแสดงและการบริจาคเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กพิการทางสายตาทั้งหมด

การเดินทางของ The Biggles Big Band ยังไม่สิ้นสุด ในที่นี้หมายถึงยังไม่หยุดเดินทาง
แม้ปีนี้จะไปจบทริปที่เสียมเรียบก็จริง แต่ปีหน้พวกเขาก็จะบินกลับมาอีก เช่นเดียวกับ The Biggles ที่เตรียมเที่ยวบินของตัวเองให้พร้อมเสมอเพื่อเดินทางไปช่วยผู้อื่น ซึ่งการช่วยด้วยเสียงดนตรีนี้อาจจะมีความหมายมากกว่าช่วยชีวิตแบบในนิยายเสียด้วยซ้ำ เพราะนอกจากช่วยเยียวยาทางจิตใจ (สังเกตจากสีหน้าลืมความทุกข์และฉ่ายความสุขของผู้ฟังที่ร้องคลอและเต้นตามระหว่างการแสดง) ยังเป็นการช่วยสานต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนทั้งสองประเทศด้วย
เหมือนเช่นคำกล่าของท่านเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยกล่าวไว้ในวันเปิดงานทัวร์คอนเสิร์ตว่า “ดนตรีคือภาษาสากล และดนตรีก็ช่วยเชื่อมโยงผู้คน เชื่อมโยงประเทศ”
ซึ่งไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า นี่คือ ซอล์ฟพาวเวอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของประเทศเนเธอร์แลนด์