
สิริมงคลคนเขาใหญ่
ศาลเจ้าพ่อปลัดจ่าง นิสัยสัตย์
ผืนป่าเขาใหญ่ครอบคลุมถึง 4 จังหวัดด้วยกัน คือ นครราชสีมา นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์และสัตว์ป่าหายาก สมัยที่การคมนาคมและอุปกรณ์ยังชีพเอาตัวรอดในป่ายังไม่สะดวกสบายอย่างเช่นทุกวันนี้ ไม่ง่ายเลยที่จะผ่านป่าดงดิบสุดแสนพิศวงนี้ไปได้ โรคภัยไข้เจ็บเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ดักทางผู้คนไว้ เป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็พอทำเนา แต่หลายคนก็สังเวยชีวิตให้กับความโหดร้ายของธรรมชาตินี้ จนผู้คนแซ่ซ้องกันว่า ไม่ใช่เพียงอำนาจของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งลี้ลับที่ตาเนื้อมองไม่เห็น กลืนกินนักผจญภัยและพรานป่าไปนักต่อนัก เพราะไม่รู้จักยำเกรงผืนป่าดึกดำบรรพ์แห่งนี้
ความลี้ลับนี้ทำให้มีการตั้ง “ศาลเจ้าพ่อเข้าใหญ่” ขึ้น เพื่อปกปักษ์รักษาผู้ผ่านทางที่มาด้วยความปรารถนาดี จนกลายเป็นที่ชุมนุมศรัทธาของผู้ที่ผ่านไปมาให้มาสักการะและมาขอขมาทุกครั้ง เพราะบางทีอาจพลั้งเผลอทำเรื่องลบหลู่ออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
ความศักดิ์สิทธิ์และขลังของเจ้าพ่อเขาใหญ่ได้ยินถึงหูของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังมีการจัดตั้งผืนป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว ก็ได้มีการอัญเชิญศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ที่แต่เดิมอยู่ฝั่งจังหวัดนครนายก ให้มาอยู่ที่กิโลเมตรที่ 23 ของถนนธนะรัชต์ ซึ่งเป็นปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างที่ทุกคนทราบในปัจจุบัน เพื่อให้ท่านเจ้าพ่อเขาใหญ่ช่วยปักปักษ์รักษาผืนป่าและผู้คนเหมือนดังที่ท่านเคยทำมาเมื่อสมัยยังมีชีวิต

ท่านปลัดจ่าง นิสัยสัตย์ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 ราว พ.ศ.2400 เคยออกศึกผ่านสมรภูมิสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างโชกโชน โดยท่านมีบุคลิกที่สง่างามสมชายชาตินักรบ ท่านใช้ม้าเป็นพาหนะ แต่งกายด้วยชุดสีแดง มีปืนและดาบเป็นอาวุธประจำกาย คุณงามความดีในการรับใช้ชาติมาอย่างโชกโชนทำให้ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดประจำกองทัพ ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองด้านทิศบูรพา ได้แก่ ปราจีนบุรี และนครนายก
ยามไม่มีกิจสงครามท่านปลัดจ่างก็มักออกตรวจเยี่ยมพื้นที่ต่างๆ อยู่เนืองนิตย์ โดยมีม้าคู่ใจพาไปทุกที่ นอกจากจะได้เยี่ยมราษฎรทั่วไปแล้ว ยังได้เยียมเยือนสหายศึกนักรบไทยและลูกหลานไปในตัวด้วย
ในช่วงราว พ.ศ.2467 ราษฎรบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.วังกระโจม(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อ.เมือง) จ.นครนายก ได้พากันขึ้นไปถากถางป่าปลูกข้าว ปลูกพริก ไม้ผล และปลูกบ้านเรือนอยู่บนยอดเขาใหญ่ประมาณ 30 หลังคาเรือน จนกลายเป็นชุมชนเล็กๆ และต่อมาทางราชการในสมัยนั้นได้ยกฐานะชุมชนดังกล่าวขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นตรงกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
และบนเขาแห่งนี้ไม่ได้มีแต่เพียงชาวบ้านทั่วไป แต่ยังมีกลุ่มโจรป่าที่ตั้งซ่องโจรกันอยู่ถึง 5 ก๊กด้วยกัน ซึ่งหัวหน้าโจรเหล่านี้ต่างเคยออกศึกเคียงบ่าเคียงไหล่มากับปลัดจ่างทั้งสิ้น
ตอนที่ทราบข่าวว่าสหายศึกนอกรีดเหล่านี้ไปถากถางพื้นป่าจนเตียนโล่งเพื่อเป็นพื้นที่ซ่องสุมกำลังพล ท่านรู้สึกโกรธแค้นเป็นอย่างมาก เพราะว่านิสัยเป็นคนที่รักในผืนป่า ธรรมชาติ และความเป็นธรรมอยู่แต่เดิม ก็ไม่สามารถไปว่ากล่าวห้ามปรามอะไรได้ เพราะเวลานั้นปลัดจ่างเกษียนแล้ว ไม่ได้มีอำนาจไปว่ากล่าวใครได้เหมือนแต่ก่อน ส่วนพวกโจรก็มีกำลังวังชาและมีอาวุธ เมื่อไม่มีศึกรบก็ไม่มีเบี้ยหวัด จะมัวแต่เกรงใจหัวหน้าเก่าก็จะอดอยากปากแห้ง จึงไม่ได้ให้ความยำเกรง หันไปรีดนาทาเร้นชาวบ้านที่ทำมาค้าขายอย่างสุจริต
กลุ่มโจร 5 ก๊ก ที่มีกองกำลังอยู่ในพื้นที่นั้นได้แก่ ก๊กเสือจัน ก๊กเสือไทร ก๊กเสือบุญมี ก๊กเสือสำอาง และก๊กเสือสองพี่น้อง (คือเสือเย็น กับเสือหล้า)
พอทางการไปสืบทราบมาว่าก๊กเสือทั้งหลายที่ซ่องสุมกันอยู่นี้ ปลัดจ่างล้วนรู้จักทั้งสิ้น จึงมาขอความร่วมมือให้ท่านช่วยเหลือราชการบ้านเมืองอีกครั้ง ในการทลายซ่องโจรบนเขาใหญ่นี้

ท่านปลัดจ่างไม่ได้ใช้เวลาคิดนาน เพราะท่านมีใจพร้อมช่วยเหลือทางราชการอยู่แล้ว หลังจากได้รับการทาบทามและแต่งตั้งก็รีบเดินทางไปพบและเจรจากับลูกน้องเก่าบนเขาใหญ่ทันที แต่มีกลุ่มโจรอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมเชื่อฟัง ต่อมาจึงได้นัดกลุ่มโจรดังกล่าวเพื่อเจรจา ณ ป่าหญ้าคาใกล้หนองขิง แต่ในที่สุดไม่สามารถตกลงกันได้จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น
ปรากฏว่าหัวหน้าโจรกลุ่มนั้นถูกท่านปลัดจ่างจับตาย ส่วนกลุ่มโจรที่เหลือก็ยอมแพ้ นอกจากนี้ท่านยังได้ชักชวนชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่บนเขาใหญ่ทั้งหลายให้กลับลงมาใช้ชีวิตอยู่พื้นราบตามปกติด้วย
ไหวพริบอันเฉียบคมและความกล้าหาญดุจเสือร้าย ปลัดจ่างสามารถเอาชนะใจเหล่าโจรผู้ร้ายให้ยอมสยบต่ออำนาจของกฎหมายได้ ในที่สุดเลิกราเป็นโจรกลับตัวกลับใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น หัวหน้าโจรก๊กสองพี่น้อง เมื่อได้พบหน้าท่านครั้งแรกเท่านั้น ก็ลงจากหลังม้ามากราบท่านปลัดจ่าง แล้วก็ขอพูดคุยกับท่าน จนในที่สุดหัวหน้าโจรสองพี่น้องก็ยอมบวชเรียน ซึ่งต่อมาก็มีอาชีพเป็นครูที่บ้านหนองเคี่ยมตราบจนสิ้นชีวิต
ด้วยคุณงามความดีในครั้งนี้ ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เก็บค่ารัชชูปกรณ์ (ส่วย) ในพื้นที่จังหวัดนครนายก เนื่องจากขณะนั้นเมืองนครนายกการเก็บค่าส่วยส่งหลวงได้น้อยลงทุกปี เพื่อให้การเก็บส่วยได้ผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทางราชการจึงสรรหาบุคคลที่จะมาทำหน้าที่แทนคนเก่า ด้วยเหตุนี้ท่านปลัดจ่าง จึงได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะท่านเป็นผู้มีฝีมือ มีความซื่อสัตย์ มีจิตใจโอบอ้อมอารี กอรปกับท่านเชี่ยวชาญในการรบ เคยออกปฏิบัติหน้าที่เก็บส่วยให้กับทางราชการในอดีต
หลายปีต่อมาท่านปลัดจ่างสิ้นชีวิตลงเพราะพิษไข้ป่า ด้วยวัย 75 ปี ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งศาลเพียงตาไว้ที่ใต้ต้นกระบกใหญ่บนเชิงเขาใกล้กับโรงเรียนวัดหนองเคี่ยม จังหวัดนครนายก โดยชาวบ้านต่างเรียกขานศาลนี้ว่า "ศาลเจ้าพ่อปลัดจ่าง”

วันที่ 26 มกราคมของทุกปี ผู้ที่มีจิตศรัทธาในคุณงามความดีของปลัดจ่างจึงมารวมตัวกันจัดพิธีบวงสรวงสักการะ “เจ้าพ่อเขาใหญ่” อันเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และการพิชิตคนพาลอภิบาลคนดี วีรกรรมของท่านเป็นแบบอย่างให้ชนรุ่นหลังเอาเยี่ยงอย่าง และร่วมมือกันอนุรักษ์ผืนป่าให้ยั่งยืนสืบไป
ทุกๆ ปีจะมีการรำบวงสรวงที่เอิกเกริก เป็นวันที่คนทุกหมู่เหล่ารวมใจกัน ไม่เฉพาะแต่คนที่หากินหาอยู่กับพื้นที่เขาใหญ่ แต่ยังรวมถึงผู้มีจิตศรัทธาที่ได้พบเจอความศักดิ์ของเจ้าพ่อเขาใหญ่กับตัวเองและครอบครัว
นอกจากเดินทางมาด้วยตัวเอง ในภายหลังมีการปลุกเสกเหรียญเจ้าพ่อเขาใหญ่ขึ้นมาด้วย เพื่อให้คนที่ศรัทธาเช่าบูชาได้ด้วย จัดสร้างโดย ท่านพระอธิการกัมปนาท สุเขธิโต (เจ้าอาวาสวัดหมูสี) และอาจารย์เทวา มหาศาล (ไร่มณีศรทุ่งทานตะวัน เขาใหญ่)
คุณงามความดีในฐานะนักอนุรักษ์เมื่อยังมีชีวิตและความศักดิ์สิทธิ์เมื่อล่วงลับไปแล้วของปลัดจ่างทำให้บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์นำเอาเค้าโครงจากชีวประวัติของท่านปลัดจ่างมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “เจ้าพ่อเขาใหญ่ The Impossible” นำแสดงโดยสหัสชัย ชุมรุม เป็นปลัดจ่าง และ ปวริศร์ มงคลพิสิฐ เป็นเสือสำอาง กำกับภาพยนตร์โดย ภาคิณ สุขขี ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการปรับปรุงบทภาพยนตร์ เสร็จเมื่อไรย่อมมีแต่เพิ่มความเชื่อและศรัทธาในตัวเจ้าพ่อเขาใหญ่ให้มีมากขึ้นอย่างแน่นอน
จะเห็นได้ว่าเรื่องราวความศักดิ์ของเจ้าพ่อเขาใหญ่ไม่เคยจบสิ้น นับวันยิ่งมีแต่จะเพิ่มพลังความศรัทธาให้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับลูกหลานชาวเขาใหญ่ของท่านที่สืบสานปณิธานดูแลผืนแผ่นดินของตัวเองจนกลายเป็นมรดกของโลกทางธรรมชาติไปแล้ว

Tip 1
คาถาบูชาเจ้าพ่อเขาใหญ่
ตั้งนะโม 3 จบ ปุนายะ ตะวาเส ยังนะเส ปุนายะ ตะวาเส ยังนะเส ปุนายะ ตะวาเส ยังนะเส
- ไหว้เพื่อขอพรเจ้าพ่อปกติ จุดธูป 5 ดอก
- ไหว้บนบานเจ้าพ่อ จุดธูป 9 ดอก
- เมื่อพรที่ขอสำเร็จ จุดธูปแก้บน 16 ดอก

Tip 2
การไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่มีป้ายคำแนะนำแต่งเป็นกลอนไว้ไม่ใกล้ไม่ไกลศาลของท่านมีใจความว่า
ตามที่ท่านได้มีจิตศรัทธา
ถวายของบูชาให้เจ้าพ่อ
มีเรื่องราวเล่าขานมานานพอ
ว่าเจ้าพ่อขอเหล้าไหไก่หนึ่งตัว
จึงขอแจ้งข่าวมาหาญาติมิตร
ที่ตั้งจิตบนถวายได้รู้ทั่ว
ใช้สติตรึงตรองไม่หมองมัว
ไก่หนึ่งตัวพร้อมเหล้าจึงเข้าที
ส่วนรูปปั้นที่นำมาสารพัด
จะสร้างความแออัดในพื้นที่
ต้องยกย้ายลำบากยากเหลือดี
ร่วมมือกันวันนี้อย่ามีเลย

Tip 3
หากมาไหว้ขอพรเจ้าพ่อเขาใหญ่อย่างเดียว และไม่ต้องการขึ้นไปบนอุทยาน สามารถจอดรถที่ลานด้านหน้าทางเข้าอุทยานและเดินเข้าด่านมาได้เลย ไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าอุทยาน