
30 ปี “กลุ่มไม้ขีดไฟ” จุดไฟเติมพลังเด็กเล็ก
หวังให้เดินสู่เป้าหมาย ไม่ร่วงหล่นกลางทาง
ช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่าน ถือว่าเป็นยุคเฟื่องฟูอย่างมากของบรรดาคนทำงาน NGOs (Non Government Oganization) หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงสังคม และ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในสมัยนั้นมีหลากหลายประเด็นในสังคมไทยที่ต้องการขับเคลื่อนและแก้ปัญหาไปคู่ขนานกับภาครัฐ
ในช่วงเวลานั้นเอง ชื่อของ “กลุ่มไม้ขีดไฟ” ก็ปรากฎขึ้นมา
เป็นเวลา 30 ปีเต็มแล้ว ที่กลุ่มไม้ขีดไฟทำงานประเด็นที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง หลักๆ เป็นเรื่องการศึกษา และ การมีส่วนร่วม
กลุ่มไม้ขีดไฟก่อตั้งเมื่อปี 2538 จากการรวมตัวกันของบันฑิต 4 คนจากรั้วรามคำแหง พกประสบการณ์ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทมาเต็มกระเป๋า ในช่วงแรกมุ่งขับเคลื่อนประเด็นความไม่เท่าเทียมของชายหญิงในสังคม เรื่องเพศ และ เด็กนักเรียนตีกัน เมื่อทำไปสักพักก็พบว่าหลายต่อหลายปัญหาในสังคมมีรากอยู่ที่เรื่องเดียวกัน คือ การศึกษา และ การมีส่วนร่วม โดยในตอนนั้นผลงานของกลุ่มไม้ขีดไฟที่มมีส่วนผลักดันมีหลายเรื่อง เช่น การตั้งสภาเด็ก การประกาศให้วันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นวันยุติความรุนแรง เป็นต้น
ทำงานไปได้ราว 10 ปี กลุ่มไม้ขีดไฟเริ่มมองหาที่ทางการทำงานเพื่อที่จะปักหลักในระยะยาว โดย “กุ๋ย-ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มไม้ขีดไฟ บอกว่า ทำงานที่กรุงเทพสักระยะ ก็รู้สึกว่าอยากกลับมาอยู่บ้าน ก็เลยคิดถึงโคราช เพราะตนเองเป็นคนอำเภอโชคชัย แต่เพราะโชคชัยอยู่ไกลกรุงเทพเกินไป เลยขีดวงจากกรุงเทพ 200 กิโลเมตร สุดท้ายมาสรุปที่อำเภอปากช่อง เพื่อการเดินทางไปมาสะดวก เนื่องจากยังต้องการเข้าไปกรุงเทพ ที่เป็นแหล่งร้านหนังสือ โรงละครเวที โรงภาพยนตร์ เพื่อหาแรงบันดาลใจ และ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

เมื่อกลับมาปากช่อง กลุ่มไม้ขีดไฟตกผลึกแนวทางการทำงานของตัวเองเน้นที่เด็กเล็ก จากเดิมที่เป็นเด็กโต
“พอมาปากช่องไม่ทำงานกับเด็กโตนะ เพราะเรื่องข้อจำกัดของทรัพยากร คือ เราพบว่าการทำงานกับเด็กโต แป๊บเดียวเขาก็ลืม ไปถามหมอด้านจิตวิทยาบอกว่าเด็กโตข้อดีคือจำได้ แต่ก็ลืมเร็ว ดังนั้นกิจกรรมที่ทำต้องทำซ้ำ ทวนบ่อยๆ แต่ทรัพยากรเรามีจำกัด ก็เลยถามหมอว่าทำกับกลุ่มไหนถึงจะอยู่ยาวๆ คุณหมอบอกว่าต้องตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบ ที่จะเป็นวัยทองของชีวิต ถ้าคุณทำอะไรกับเขาได้ มันจะอยู่ยาว ดังนั้นก่อนกลับบ้านก็เลยไปหานักกิจกรรมที่ทำเกี่ยวกับเด็ก เช่น ไปหาครูปรีดา ปัญญาจันทร์ อยากจะรู้ว่านิทานทำงานกับเด็กยังไง พอกลับมาที่ปากช่อง ก็เริ่มทำงานกับเด็กเล็ก ก็เริ่มทำนิทานกับเด็ก ทำเรื่องการเล่นอิสระ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า จากเมื่อก่อนที่เราทำงานรับมือแก้ไข เราก็มาเน้นงานป้องกัน”
เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่กลุ่มไม้ขีดไฟยืนหยัดในการขับเคลื่อนปัญหาต่างๆ โดยมีผลงานเป็นรูปธรรมหลากหลายเรื่อง
คุณกุ๋ย บอกว่า เราอยู่เบื้องหลังนโยบายกับเด็กหลายเรื่อง เช่น เรื่องสภาเด็ก การกำหนดวันยุติความรุนแรง หลายนโยบายก็ผลักดันสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ว่าส่วนใหญ่เราเกาะเกี่ยวช่วยเหลืองานภาครัฐอยู่หลายเรื่อง อย่างตอนนี้ก็มีเรื่องเล่นอิสระ ที่กลายเป็นนโยบายของกรมอนามัยที่ออกประกาศให้ทุกโรงเรียนอนุบาลมีมุมเล่นอิสระ ซึ่งโรงเรียนก็ส่งครูมาเทรนนิ่ง ถือว่าเราอยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อน
“คือสังคมไทยเลี้ยงเด็กแบบซีเรียสไป ไม่ปล่อยให้เล่น จะทำอะไรก็ไปห้ามตลอดเวลา คือ เมื่อเราทำงานกับเด็ก เราก็ไปหาว่ามีเครื่องมืออะไรที่จะพัฒนาเด็กได้บ้าง ก็พบว่ามีเรื่องการอ่าน เรื่องอาหารและโภชนาการ และ เรื่องเล่น เราก็เลยมองว่าสังคมไทยไม่มีเรื่องนี้ แต่พบว่ามูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กทำงานเรื่องนี้ จึงให้เขามาเทรนให้ ว่าเล่นอิสระมันต้องคิดยังไง คิดจากอะไร แก่นมันเป็นยังไง ถ้าเด็กเล่นเสี่ยงมันยิ่งได้เรียนรู้ แต่ผู้ใหญ่จะจัดการยังไง พอเรียนรู้เสร็จก็เริ่มทำงาน ก็ออกไปทำกับโรงเรียนรอบบ้าน แล้วดูว่าที่ไหนทำอีก ก็มีฮ่องกงทำมา 40 ปีแล้ว ก็บินไปหาแล้วก็ไปดูแก่นคิดว่าเขาทำยังไง”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วม สำหรับชั้นมัธยม กลุ่มไม้ขีดไฟใช้การสนับสนุนงบประมาณ กลุ่มละ 30,000 บาท ทั้งหมด 30 กลุ่ม เลือกโรงเรียนที่อยู่รอบๆ เขาใหญ่ ปราจีนบุรี สระบุรี และ นครนายก
“เมื่อเด็กลงมือทำจบแล้ว เราก็จะมาช่วยถอดบทเรียนว่าโครงการที่ทำมีผลต่อสังคม และ ตัวเราอย่างไร คือ เราต้องการให้เกิดแอ็คทีฟซิติเซ่น ให้เขารู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้”
ระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีสนับสนุนบ้าง โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่องอาหารปลอดภัย ได้งบประมาณมาจากมูลนิธิพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ให้นักศึกษาคิดแคมเปญผลักดันให้เกิดอาหารปลอดภัยในมหาวิทยาลัย
ขณะที่งานเทรนนิ่งก็จะจับเป็นประเด็นไป เช่น ปัญหาพนันออนไลน์ที่กำลังระบาดหนักในตอนนี้ กลุ่มไม้ขีดไฟก็จะช่วยออกแบบวิธีการเรียนรู้ คิดหลักสูตร หาเครื่องมือที่เด็กเรียนรู้ได้
“พนันออนไลน์ตอนนี้หนักมาก เด็กตกเป็นเหยื่อเยอะมาก มีเคสหนึ่งเด็กเรียนนอกติดคุก เพราะเล่นพนันเอานาฬิกาพ่อไปขาย แล้วไม่ยอมส่งให้เขา ติดคุก 3 เดือน คือ มันเป็นเหยื่อหมด ยิ่งตอนนี้จะมีคาสิโน งานก็เลยเข้มข้นขึ้น ต้องทำงานรับมือกัน”

ปัจจุบันกลุ่มไม้ขีดไฟ มีเจ้าหน้าที่ 5 คน นอกนั้นเป็นอาสาสมัครจากต่างชาติ และ นักศึกษาฝึกงาน สำหรับอาสาสมัครต่างชาติจะรับเดือนละ 2 คน ต้องอยู่อย่างน้อย 10 วัน มีบ้านพักให้ และ ทุกปีกลุ่มไม้ขีดไฟจะมีค่ายอาสาสมัครเพื่อจะให้คนหนุ่มสาวที่อยากทำงานแบบนี้ได้มาทำแคมป์กันที่นี่ เพื่อรู้จักเป็นเครือข่ายกันต่อไป
“อาสาสมัครส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยว เขามาเป็นแก๊ปเยียร์ มาที่เราเหมือนเขาได้ค้นหาตัวเอง บางคนได้รู้ว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ได้พิสูจน์ว่าตัวเขามีค่ากับคนอื่นนะ อาจจะเป็นใครซักคนที่มีค่ากับเด็กๆ มีชาวอิตาลีคนหนึ่งเขาบอกแม่อยากให้เป็นหมอ มาอยู่กับเรา 3 เดือน คนนี้เป็นอาสาสมัครชุดแรกๆ ก่อนกลับเขาเขียนจดหมาย ร้องไห้ บอกว่ารู้สึกว่ามีคุณค่าจังเลย ตอนอยู่ประเทศเขาไม่เคยรู้สึกแบบนี้ แล้วเขาก็สรุปว่าจะกลับไปเป็นหมอแบบที่แม่ต้องการ เพราะจะได้มีคุณค่าต่อคนอื่น คือ พอเขาได้สัมผัส ยึดโยงกับผู้คน คอนเน็คกับมันได้ก็จะกลายเป็นพลังที่จะไปกลับเริ่มต้นชีวิต”
สิ่งเหล่านี้ล้วนจุดประกายจากไม้ขีดไฟก้านเล็ก ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของพลังงานที่ยิ่งใหญ่ในการบรรลุเป้าหมายที่ฝันไว้ของเด็กน้อยทั้งหลาย

“เราทำงานกับเด็ก เยาวชน เรื่องยาเสพติด เหล้าบุหรี่ เพศ มันเป็นขนมหวาน ถ้าคุณมีฝันที่ใหญ่กว่านั้นเรื่องพวกนี้เป็นแค่เรื่องริมถนน แต่เด็กบ้านเรามันตกหลุม คือ ถ้าจะพูดแบบวิชาการก็คือทักษะชีวิต ถ้าคุณมีทักษะชีวิต คือ มีเป้าหมายชีวิต ดังนั้นการทำให้เด็กมีไฟ คือ มีพลังงานไปสู่อนาคตที่คุณอยากจะเป็น กลุ่มไม้ขีดไฟก็เลยทำหน้าที่จุดไฟให้กับเด็กๆ เจอความฝันของตัวเอง ถ้าคุณมีเป้าหมาย มีฝันของตัวเอง ไอ้เรื่องพวกนี้กระจอกมาก เราไม่ต้องรณรงค์เลยว่าอะไรดีไม่ดี คุณจะรู้ของคุณเอง คุณอยากจะชิมมันก็ได้แต่คุณมีเรื่องใหญ่ต้องทำ ถ้าคุณรู้ว่าคุณมีเรื่องใหญ่ต้องทำเรื่องพวกนี้เรื่องเล็กมาก คุณจะจัดการตัวเอง ก็เป็นปณิธานว่าทำงานให้เด็กๆ เจอตัวเอง ไม่ว่าโปรเจ็คต์อะไรเราจะมีแก่นหลักๆ คือ ทำให้เด็กได้พบว่าตัวเองชอบอะไร อย่างเด็กฝึกงานเราก็ถามตลอด ว่าทำนี่มีนี่มีอะไรที่เจอสิ่งใหม่ มีอะไรที่ชอบแล้วอยากทำต่อ”

บนฐานที่มั่นอำเภอปากช่อง พื้นที่กว่า 7 ไร่ ของกลุ่มไม้ขีดไฟ ที่เป็นทั้งบ้าน สำนักงาน ครัวรวม โรงไม้ สถานที่เล่นอิสระของเด็กๆ ห้องสมุด โรงปั้นเซรามิก และพื้นที่โล่งไว้เวิร์กช้อป หรือ ตามแต่จะใช้ประโยชน์ ในแต่ละวันกลุ่มไม้ขีดไฟยังคงแอ็คทีฟจุดไฟเติมเชื้อเพลิงให้กับเด็กๆ ให้มีพลังในการเดินหน้าสู่เป้าหมายอย่างต่อเนื่องไม่รู้เหน็ดเหนื่อย โดยระหว่างทางก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจหลากหลายที่เป็นทั้งข้อคิด และ กำลังใจให้กับสังคม
ในโอกาสที่เว็บไซต์ Khaoyai Connect เปิดตัวเป็นเว็บคอนเทนต์น้องใหม่หมาด คุณกุ๋ย เอ็นจีโอหนุ่มผู้ค่ำหวอดในแวดวงเด็กและเยาวชนมายาวนาน 30 ปี ได้ตกปากรับคำเป็นมั่นเหมาะแล้ว ที่จะมานั่งเป็นคอลัมนิสต์ประจำของ Khaoyai Connect ในการสื่อสารเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง ใครที่สนใจเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กบอกเลยว่าพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง