
คนเขาใหญ่เรียนรู้ “อสรพิษวิทยา”
อยู่ร่วมโลกกับงูอย่างปลอดภัย ไม่ทำร้ายกัน
ใครๆ ก็รู้ว่าพิษงูร้ายแรงยิ่งนัก บวกกับลักษณะทางกายภาพที่ชวนขนลุก ทำให้คนส่วนมากรู้สึกขยาดหวาดกลัว หลายคนเมื่อพบเจอก็เลือกที่จะตีให้ตาย แม้ว่าหลายๆ ครั้งงูชนิดนั้นไม่ใช่งูพิษก็ตาม
แต่เมื่อเรายังต้องอยู่ร่วมกัน และงูก็มีส่วนสำคัญในระบบนิเวศ ดังนั้นความรู้และความเข้าใจเท่านั้น ที่จะทำให้งูกับคนอยู่ร่วมกันบนพื้นที่อยู่อาศัยที่ทับซ้อนกันได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อกัน
ปัจจุบัน ชมรม “อสรพิษวิทยา” ที่ก่อตั้งโดยคุณนิค-อนิรุทธิ์ ชมงาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์เลื้อยคลาน ถือเป็นหน่วยงานหลักที่อาสาสมัครเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับงู นำความรู้และประสบการณ์ทั้งชีวิตที่อยู่กับงู สร้างความเข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตร
“เขาใหญ่” เป็นอีกพื้นที่ที่งูอยู่อาศัยชุกชุม “สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่” ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ดี จึงได้ร่วมกับ Trekking Thailand Tour และ Nick wild life จัดโครงการฝึกอบรม “Snake Workshop” โดยนำผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูมาฝึกอบรมโดยเฉพาะ เพื่อให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเจ้าอสรพิษตัวร้ายได้
งูเป็นประเภทสัตว์เลื้อยคลาน พบทั่วโลกมีอยู่ 3,000 กว่าชนิด เป็นงูไม่มีพิษ 2,400 ชนิด ที่เหลืออีก 600 ชนิด เป็นงูที่มีพิษถึงแก่ความตาย 250 ชนิด คิดเป็น 7% ของงูทั้งหมด ส่วนประเทศไทยมีงูราว 200 ชนิด และมี 7 ชนิด ที่มีพิษร้ายแรง ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้
โดยธรรมชาติของงูแล้ว พิษส่วนใหญ่มีไว้เพื่อการล่า และป้องกันตัวจากศัตรู แต่เมื่อเจอคนมักจะพยายามหลีกเลี่ยง นอกจากจะโดนทำร้ายโดยตรง หรือคนเผลอไปรบกวนโดยไม่ต้องใจ งูก็อาจป้องกันตัวและทำร้ายกลับได้
คุณเต้-พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ผู้จัดอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า เขาใหญ่มีการจัดอบรมอสรพิษวิทยา เป็นครั้งที่ 7 แล้ว เป้าหมายอยากให้คนเขาใหญ่ ในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ 3 มรดกโลก ได้ความรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ อยากให้เข้าใจว่างูมีประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และการท่องเที่ยว เพราะทุกวันนี้ปรากฎว่าทัวร์ดูงูได้รับความนิยมมากขึ้น บางทริปจัดดูกันตั้งแต่ตี 5 ถึงเที่ยงคืน ส่วนกรณีงูเข้าบ้าน หรือในบริเวณที่พัก รีสอร์ท จะได้ประโยชน์ในการเรียนรู้การรับมือเมื่อต้องเผชิญหน้ากับงูด้วยความเข้าใจมากขึ้น หวังว่ากิจกรรมนี้จะสร้างประโยชน์ เกิดความเข้าใจเรื่องความสมดุลของพื้นที่ เพราะความอุดมสมบูรณ์ของเขาใหญ่ คือ หัวใจของการเป็นเมืองมรดกโลกที่น่าภูมิใจ
สำหรับการอบรม Snake Workshop ในครั้งนี้ เป็นการให้ความรู้ขั้นพื้นฐานกับคนทั่วไป ที่ไม่เน้นการฝึกจับแบบอสรพิษวิทยา เป็นการอบรมที่เน้นว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับงู ต้องทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยนั่นเอง
หนึ่งในเจ้าหน้าที่ทีมอสรพิษวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์งูเขาใหญ่ในปีนี้ว่าเยอะกว่าทุกปี โดยเฉพาะปลายพฤษภาคมนี้ไปถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่จะมีหลายคน แต่ก็อาจจะมีงานล้นมือ การดูแลตัวเองระหว่างรอทีมงานเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์จึงสำคัญมาก
สำหรับบรรยากาศการอบรมในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่เริ่มจากให้ผู้เข้าอบรมทำความคุ้นเคยกับงู สลายความกลัวในใจ ด้วยการนำงูที่ไม่มีพิษ อย่างงูแสงอาทิตย์มาให้ลองสัมผัสด้วยหลังมือ เมื่อเริ่มคุ้นจึงค่อยใช้หน้ามือสัมผัส ซึ่งระหว่างการทดลองแตะ เจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่างูแสงอาทิตย์เมื่อโดนแสงจะมีเหลือบสีรุ้งบนตัว เป็นงูไม่มีพิษที่กินลูกงูพิษ ทำหน้าที่สร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ
จากนั้นให้ความรู้เรื่องลักษณะทางกายภาพของงู โดยแบ่งงูตามเกล็ดและผิวหนังเป็น 3 ประเภท คือ เกล็ดเรียบ เกล็ดสัน และเกล็ดตุ่ม โดยเกล็ดงูจะมีหน้าที่ช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอก เพิ่มแรงเสียดทานในการยึดเกาะ
สำหรับเกล็ดเรียบจะเป็นงูทั่วไป ส่วนเกล็ดสัน อาทิ งูแมวเซา เป็นงูเขี้ยวพับโบราณ มีพิษร้ายแรงต่อระบบเลือด เป็นงูชนิดเดียวที่แม้แต่ทีมงานหลายคนก็ไม่กล้าจับ เพราะเมื่อถูกคุกคามก็จะพุ่งตัวไปทุกทิศทาง ฉกรวดเร็วและแรง แหล่งพบเจอใกล้ที่สุด คือ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และ อ.ลำนารายณ์ ที่มีสวนสับปะรด สวนอ้อย ในพื้นที่ดินร่วนปนทราย ขณะที่งูเกล็ดตุ่ม เป็นประเภทงูน้ำ งูงวงช้าง งูกระด้าง ซึ่งงูน้ำเป็นงูที่มีฟันแหลมคมอันตราย ส่วนเกล็ดที่เป็นตุ่มจะมีหน้าที่ช่วยจับปลา
งูเป็นสัตว์ที่ไม่มีหูชั้นนอก มีแต่หูชั้นใน ดังนั้นเวลาเจองูไม่ต้องกระซิบกัน สามารถพูดได้ปกติ ส่วนลิ้นสองแฉกไว้สำหรับแตะกลิ่นบนอากาศ ว่ากลิ่นที่สัมผัสนั้นเป็นเหยื่อหรือศัตรู สายตาจะมองได้ข้างละ 45 องศา บางตัวสายตาแย่ เช่น งูเห่า บางทีถ้าเราเอามือไปใกล้จนเกือบจะชิดหน้า มันจะมองไม่เห็นด้วยซ้ำ แต่จะเห็นชัดในระยะฉก คือประมาณ 1 ฟุต งูจะมองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นก้อนๆ และงูจะไม่ล่าสัตว์ที่เป็นแนวยืน แต่จะล่าสัตว์ที่ขนานกับพื้น เช่น หมา แมว ไก่
สำหรับ “งูพิษ” ที่ควรรู้จัก มี 7 ชนิด
1.จงอาง
พิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเป็นหลัก แบ่งเป็น 4 ชนิด ที่พบในไทยมี 2 ชนิด ได้แก่
1. จงอางเหนือ ลักษณะจะมีบั้งสีขาวเป็นแถบ และจะมีแถบสีเข้มขนาบบั้งสีขาว จะพบตั้งแต่ จ.เพชรบุรีขึ้นมา ไม่พบในภาคใต้
2. บองหลา บองหลาที่อยู่แถวภาคใต้ เป็นจงอางที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวผู้จะมีขนาดเฉลี่ย 4 เมตร บั้งขาวจะขีดเล็กและถี่กว่าจงอางเหนือ
ส่วนอีก 2 ชนิด ได้แก่
1. จงอางอินเดียตะวันตก พบแค่อินเดียตะวันตก ลักษณะใกล้เคียงจงอางเหนือ แต่ลายแถบสีขาวน้อยกว่า และ
2. จงอางลูซอน เป็นชนิดใหม่ล่าสุด พบในหมู่เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ โตเต็มวัยคล้ายบองหลา ถ้าถูกงูจงอางกัดจะมีอาการปวดรุนแรง มีอาการบวม และอาจจะมีปัญหาเนื้อตาย ต้องระมัดระวัง เพราะอันตรายอย่างมาก
2.งูเห่า
พิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเป็นหลัก ในประเทศไทยมี 3 ชนิด
1.งูเห่าสยามพ่นพิษ จะมีสีน้ำตาล สีดำ และสีด่าง จุดสังเกตคือที่คอจะมีสัญลักษณ์รูปตัว U หรือ V งูเห่าสยามพ่นพิษพบกระจายตัวทั่วประเทศ แต่ไม่พบในภาคใต้
2.งูเห่าสุมาตราพ่นพิษ มีสองแบบ คือ สีเหลืองทอง และสีดำ จุดสังเกตด้านหลังไม่มีดอกจัน มีเพียงรอยพับที่ช่วงคอ มีการแพร่กระจายในภาคใต้ แต่ไม่พบในภาคอื่นๆ และ
3.งูเห่าไทย จะมีหลายสีสัน และ ดอกจันหลังคอจะมีความหลากหลาย ถ้าดอกจันเป็นรูปตัวโอจะเป็นงูเห่าไม่พ่นพิษ นอกจากนี้ยังมีงูเห่าสีขาวนวล เรียกว่างูเห่าสุพรรณ งูเห่าไทยถูกจัดว่าเป็นงูเห่าไม่พ่นพิษ แต่ก็พบว่าบางตัวมีพฤติกรรมพ่นพิษด้วย แต่ประสิทธิภาพยังไม่เทียบเท่ากลุ่มพ่นพิษแท้ แต่ก็ไม่ควรประมาท
3.งูสามเหลี่ยม
พิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเป็นหลัก เป็นงูพิษที่เจอได้บ่อยในหน้าฝนตามลำธาร ทุ่งนา สมัยก่อนเรียกงูทับทางเหลือง ชอบเลื้อยตามไฟ อาจเป็นเพราะว่าเวลาเราส่องกบเขียดมันก็เลื้อยไปหากินกบเขียด จะมีลักษณะสีดำเหลืองเท่านั้น แก้มป่อง หางสั้น
4.งูทับสมิงคลา
พิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเป็นหลัก ลักษณะของงูทับสมิงคลา มีลายสีขาวสลับดำ ในบางตัวเกล็ดสีขาวมีสีดำแซม งูทับสมิงคลาเต็มวัยบางตัวมีสีขาวอมเหลืองอ่อนๆ สลับกับสีดำ ท้องสีขาว แต่ลายสีดำจะไม่คาดถึงท้องแบบงูสามเหลี่ยม เกล็ดกลางสันหลังเป็นเกล็ดขนาดใหญ่ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม พบได้ทุกภาค ออกหากินในเวลากลางคืนใกล้แหล่งน้ำ กินงู กินกบ และเขียด
5.งูแมวเซา
พิษออกฤทธิ์ต่อระบบเลือดเป็นหลัก ลักษณะของงูแมวเซา ลำตัวป้อมสั้น พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน มีลายวงกลมๆ รีๆ สีน้ำตาลเข้มขอบๆ ลายมีสีขาวแต้ม เกล็ดด้าน มีสันกลางเกล็ด ด้านท้องมีสีขาวอมเทา และมีลายจุดเล็กๆ กระจายทั่วท้อง เมื่อถูกคุกคามเขาจะหนีอย่างรวดเร็ว หากคิดว่าหนีไม่ได้ก็จะขดตัวกลม และทำเสียงขู่พ่นลมคล้ายเสียงยางรถรั่ว งูเเมวเซาพบได้มากทางภาคกลาง และภาคตะวันออก เป็นงูพิษอันตราย อาศัยตามพื้นดิน ตามพุ่มไม้เตี้ยๆ กินอาหารได้หลากหลาย พวกสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น นก หนู กบ
6.งูกะปะ
เป็นงูที่พิษออกฤทธิ์ต่อระบบเลือดเป็นหลัก ลักษณะหัวทรงสามเหลี่ยมตรงคอคอดเล็ก บริเวณท้ายทอยจะบานออก บริเวณปลายจมูกแหลมถ้าดูเผินๆ จะคล้ายๆ กับหัวลูกศรของลูกธนู ลำตัวป้อมๆ สีลำตัวเป็นสีน้ำตาล คล้ายๆ กับสีของพื้นดิน ลายบริเวณหลังคล้ายๆ รูปสามเหลี่ยมที่หัวหันมาชนกัน มีอวัยวะรับความร้อนเรียกว่า (Pit Organ) อยู่ระหว่างจมูกกับตา พบได้ทุกภาคของไทย พบได้มากทางภาคใต้ และภาคตะวันออก ออกหากินตามพื้นดิน ชอบนอนขดตัวตามใบไม้แห้ง กินอาหารได้หลากหลาย เช่น หนู นก กบ เขียด เมื่อถูกคุกคามจะสั่นหางตีกับใบไม้เตือนศัตรูไม่ให้เข้ามาใกล้
7.งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง
พิษออกฤทธิ์ต่อระบบเลือดเป็นหลัก ลักษณะของงูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง หัวโตรูปสามเหลี่ยม คอคอดเล็ก ตัวป้อมๆ ส่วนหัวด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างของหัวมีสีเขียวอ่อนๆ หรือ
สีเหลืองๆ ลำตัวมีสีเขียวสดใส บางตัวอาจพบการแปรผันของสี เช่น สีฟ้า หรือเป็นงูเผือกที่มีสีเหลืองสดดวงตาสีแดง ด้านท้องมีสีเขียว สีเหลือง หรือสีขาวๆ ส่วนหางมีสีน้ำตาลแดง เป็นงูที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ออกหากินในเวลากลางคืน ดักรอเหยื่อตามกิ่งไม้เตี้ยๆ กินอาหารได้หลากหลาย เช่น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก หนู
แต่ถ้าโชคร้ายใครถูกงูกัดจะต้องปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี นำไปสู่การรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1.ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก
2.ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด
3.ใช้ผ้ายืดพันแผลให้ตึงพอประมาณ จากนั้นใช้ไม้ดามสองข้างแล้วพันผ้าอีกรอบ เพื่อไม่ให้อวัยวะเกิดการเคลื่อนไหวไม่ให้พิษงูกระจาย แล้วไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ที่ว่ามา หากโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกลเกิน 10 กิโลเมตรก็ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด แล้วรีบส่งโรงพยาบาลทันที
จุดสำคัญควรถ่ายภาพงูให้ได้ ต้องถ่ายให้ชัดเต็มตัว ถ่ายหัว ถ่ายลวดลายจุดเด่นที่เห็น
ในกรณีที่โดนงูเห่าพ่นพิษเข้าตา ให้ใช้น้ำเกลือล้างตาโดยหันหัวนอนตะแคง แล้วใช้น้ำเกลือเทจากฝั่งที่ตะแคงให้น้ำไหลผ่านดวงตา ถ้าโดนสองข้างให้เลือกตะแคงข้างใดข้างหนึ่งแล้วเทให้ไหลผ่านตา แล้วรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
สำหรับงูที่ไม่มีพิษ แต่มีฟันเหมือนใบเลื่อยเรียงตัวเป็นชั้น และพละกำลังที่น่ากลัว คือ งูเหลือมกับงูหลาม งูทั้งสองชนิดนี้จะมีกรามที่เป็นอิสระ เวลากินเหยื่อสามารถปลดกรามได้ ทำให้กินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้ถึง 10 เท่า หากถูกกัดไม่ปล่อย ให้จับที่คอไว้ให้แน่นแล้วใช้แขนป้องกันที่คอไม่ให้โดนรัดเส้นเลือดดำ จากนั้นให้คนช่วยใช้อะไรก็ได้ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มาราดที่ปากงู แล้วหาส่วนหางแล้วเพื่อแก้การรัดออกจากตัว
ส่วนการจับงูเหลือมงูหลามหากมีขนาดใหญ่ต้องใช้ความชำนาญ และทำงานกันเป็นทีม 3 คน คนหนึ่งถือไม้ล่อด้านหน้า อีกคนจับหาง อีกคนหนึ่งถือบ่วง เมื่องูนิ่งให้คล้องบ่วง กะประมาณห่างจากท้ายทอย 1 คืบ แล้วรัดบ่วงให้ตึง เมื่อแน่ใจแล้วว่างูไม่หลุดให้คนที่ล่อด้านหน้าตอนแรกมากดที่กลางกระหม่อมงูแล้วกำคอ จากนั้นคลายบ่วงเอาออกทางหาง คนหนึ่งจับหัว คนหนึ่งจับหาง ส่งสัญญาณยกขึ้นพร้อมกันให้งูโค้งเป็นรูปตัวยู อีกคนกางถุงที่มีหูรูดเตรียมไว้ หย่อนงูลงเอาส่วนหางลงก่อน เช็คให้แน่ใจว่ามือที่จับคอไม่มีอะไรให้ไปเกี่ยวกับถุง แล้วรีบทิ้งหัวงูลงไปตาม แล้วรีบรูดเชือกปิดถุง
ถ้าเจองูจงอาง หรืองูเห่าแบบไม่ทันตั้งตัว ให้ยืนนิ่งที่สุด งูจะลดแม่เบี้ยแล้วเลื้อยหนีไปเอง แต่ถ้าไม่ยอมลดแม่เบี้ย ให้ค่อยๆ สืบเท้าถอยหลังเป็นแนวตรง พอได้ระยะพ้นจากการฉกก็ให้รีบหนี
แต่ถ้าเจองูพิษขนาดเล็ก เราสามารถดำเนินการได้เองอย่างปลอดภัย ด้วยการใช้อุปกรณ์ในบ้าน อย่างที่ตักผง ไม้กวาด ถังทรงสูง วิธีคือ ใช้ไม้กวาด กึ่งกวาดกึ่งกดที่งูเอามาใส่ที่ตักผงโดยไม้กวาดก็ยังทับงูไว้ จากนั้นทิ้งลงในถังสูง นำไปปล่อยเองก็ได้ หรือเรียกทีมงานกู้ภัยก็ได้
อีกวิธีคือใช้ขวดจับงูเล็ก ให้จับตูดขวด แล้วเอาขวดไปจ่อที่หัวงู แล้วใช้ไม้ตะขอ หรือ อะไรที่สามารถกดกึ่งกลางลำตัวงูไว้ น้ำหนักการกดพอประมาณ หากแรงเกินไปงูจะดิ้น ถ้าเป็นงูเห่าตัวเล็กต้องชิงจังหวะก่อนที่มันจะแผ่แม่เบี้ย แรกๆ งูอาจจะไม่เข้า ให้ตะแคงขวด 45 องศา พองูเลื้อยเข้าให้ใช้ไม้ตะขอ หรือไม้ที่มีสะกิดหางเบาๆ จนเข้าหมดทั้งตัว ให้ค่อยๆ เอาฝาไปปิดขณะที่ขวดยังอยู่ติดพื้น
คุณเบียร์-วรุฬ จิโนแสง อายุ 43 ปี หนึ่งในทีมวิทยากร และที่ปรึกษาชมรมอสรพิษวิทยาภาคอีสาน และประธานกรรมการบริษัทเทรกกิ้งไทยแลนด์ทัวร์ ให้สัมภาษณ์ว่า การอบรมครั้งนี้เพื่อต้องการให้เรียนรู้ในการดำเนินการ เพราะบางครั้งสถานการณ์ตรงหน้าไม่สามารถจะรอเจ้าหน้าที่ได้ กรณีเร่งด่วนจะมีวิธีดำเนินการเพื่อให้เราปลอดภัยก่อนได้อย่างไร ซึ่งเหตุที่เคยเกิดขึ้นแต่ละครั้งก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าเป็นเคสที่เจอเยอะฝั่งเขาใหญ่ คือ งูจงอาง งูเหลือม งูหลาม ส่วนงูเล็กก็มีทั่วไป ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีรับมือ ส่วนมากจะโทร.แจ้งทีมงานให้ไปช่วย แต่บางครั้งทีมงานติดภารกิจไปไม่ทัน งูก็ออกนอกบ้านไปแล้ว ซึ่งมันอาจจะไปเข้าบ้านอื่นต่อ ซึ่งจะเดือดร้อนเป็นทอดๆ ฉะนั้นจึงอยากให้การเรียนรู้ครั้งนี้สามารถช่วยดำเนินการเบื้องต้นด้วยตนเอง ก่อนที่ทีมงานจะเข้ามา
“อันดับแรก เจองูต้องรู้จักประเภทของงูก่อน จากนั้นก็คำนวณการเข้าดำเนินการ ถ้าเป็นงูพิษก็จะจัดการแบบหนึ่ง ไม่มีพิษจัดการอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายงูทุกชนิดถ้าคลุมหัวปิดปากได้คือจบ ถ้าปล่อยให้มันอ้าปากก็จะอันตราย”
นอกจากนี้การจับงูไปปล่อย ก็จะช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ เพราะถ้าเราฆ่ามันหมด ถ้างูบางชนิดหายไปก็จะกระทบกับห่วงโซ่อาหาร อย่างงูปี่แก้ว ถ้าเราตีตายปุ๊บงูพิษบ้านเราจะเยอะ เพราะงูปี่แก้วเป็นงูกินไข่ แล้วยังมีงูแสงอาทิตย์ที่จะมีความเชื่อผิดๆ ว่าถ้าถูกกัดจะเสียชีวิตก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ทั้งที่เป็นงูไม่มีพิษ แล้วมันเป็นงูที่กินลูกงูพิษ ช่วยสร้างสมดุลให้ธรรมชาติ
“เป้าหมายคือ เราอยากให้คนอยู่กับงูอย่างมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อนาคตงูอาจจะออกมาเยอะ เพราะพื้นที่ธรรมชาติถูกทำลายหมด อย่างงูเหลือมงูหลามตอนนี้ที่กรุงเทพฯ ล้นมาก เพราะมันโดนจำกัดพื้นที่น้อยมาก ถามว่าศัตรูทางธรรมชาติของงูเหลือมและงูหลามมีหรือไม่ ถ้าในธรรมชาติที่สมบูรณ์ งูตัวเล็กจะถูกกำจัดด้วยงูกินงูด้วยกัน ส่วนตัวที่ใหญ่หน่อย งูจงอางก็จะช่วยกิน แต่กรุงเทพฯ ไม่มีจงอางเลย ทำให้งูเหลือมงูหลามเยอะมาก”
คุณเบียร์บอกอีกว่า ชมรมอสรพิษวิทยา ยังคาดหวังเรื่องการกระจายเครือข่าย เพราะตอนนี้อาสาสมัครไม่เพียงพอ หากเราเพิ่มเครือข่ายได้ในแต่ละภูมิภาคก็จะช่วยลดภาระของทีมหลัก อย่างตนที่ดูภาคอีสาน ตอนนี้มีสมาชิกที่อยู่ในระบบแค่ 7 จังหวัด คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร อุดรธานี และ หนองคาย โดยความฝันอยากให้มีครบทุกจังหวัด
เพราะบนโลกนี้ไม่ได้มีแค่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียว แต่ยังมีสัตว์อื่นๆ คอยสร้างความสมดุล ทำให้โลกนี้ดำเนินต่อไป ดังนั้นความรู้และความเข้าใจจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ เรียกว่าต่างคนต่างอยู่โดยไม่ต้องเบียดเบียนกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด