
เลิกโอบกอดความแร้นแค้น หันมาสร้างโอกาสจากความรุ่มรวยด้วยความคิดสร้างสรรค์
พบกันที่เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2568 | ISANCF2025
“คนอีสานเวลาพูดถึงตัวเอง ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นว่า…เราเป็นภูมิภาคที่แห้งแล้ง ยากจน ถูกกดทับ ผมก็เลยคิดว่า เลิกเถอะ เลิกพูดเรื่องนี้กันได้ไหม”
คุณสักก์สีห์ พลสันติกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น (Creative Economy Agency - CEA) เริ่มสนทนาด้วยสายตาของคนนอกที่ไม่ได้มีพื้นเพความเป็นอีสาน แต่ได้รับโอกาสทำหน้าที่นำพาอีสานให้ก้าวทัดเทียมภูมิภาคอื่นที่มีต้นทุนเต็มกระเป๋า ทั้งมรดกตกทอดทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติที่สวยงามเป็นจุดขาย ที่แม้ไม่ต้องปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์อะไรเพิ่มเติมก็สามารถดึงดูดใจให้ผู้คนมุ่งหน้าไปหาได้
“นี่เป็นข้อดีของการมาใหม่” ผู้อำนวยการ CEA ขอนแก่น กล่าวและหยุดนิ่งไปชั่วครู่ ก่อนจะย้ำถึงวิสัยทัศน์ของผู้มาใหม่ว่า ความยากจน แร้นแค้น ด้อยโอกาส ไม่ได้มีเฉพาะที่อีสานเท่านั้น เราควรก้าวข้ามเรื่องนี้ไปได้แล้ว จะเอามากอดไว้ทำไม สิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับการแบรนดิ้งในระดับภูมิภาค ก็เลยชวนคิดว่าเราจะก้าวข้ามเรื่องราวเหล่านี้ไปได้อย่างไร จึงวางแผนว่าเทศกาลหลังจากนี้อีก 3 ปี เราจะใช้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร โดยทำให้เป็นยุทธศาสตร์ เปลี่ยน “แบรนด์ดิ้งของอีสาน” ให้ได้ โดยให้เป็นภูมิภาคที่รุ่มรวย จุดเด่นของอีสานคือมีพื้นที่มากที่สุด ประชากรก็เยอะที่สุด ตัวเลขต่าง ๆ อีสานสูงกว่าภาคอื่น เทศกาลฯ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแบรนด์ดิ้งอีสานให้มีความรุ่มรวย มีมูลค่าสูง เพื่อทำให้เศรษฐกิจของอีสานเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เครื่องมือที่เรามี ซึ่งก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์”
“เราไม่ได้เป็นตลาดท่องเที่ยวโดยธรรมชาติแบบภาคอื่น จึงหันมาเน้นในเรื่องของธุรกิจ และเน้นในประเด็นทางสังคมที่เราสนใจมากกว่า โดยหยิบยกอะไรที่เป็นประโยชน์กับภูมิภาค และธุรกิจสร้างสรรค์มานำเสนอ”
อะไรคือจุดประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้?
CEA ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ สำหรับกลยุทธ์พัฒนาเมือง เรามีแพลตฟอร์มการจัดเทศกาลงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ใน 4 ภูมิภาค คือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week), เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week), เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) และเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ (Pakk Taii Design Week) ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี จะเห็นว่าชื่องาน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์” ของเราจะแตกต่างไปจากเทศกาลอื่น ด้วยไม่อยากให้จำกัดเฉพาะงานดีไซน์ เพราะอีสานมีความหลากหลายกว่าในเชิงสร้างสรรค์
ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว เราจึงต้องการยกระดับให้งานนี้เป็นแพลตฟอร์มของนักสร้างสรรค์และผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ให้มีโอกาส ต่อยอด อะไรใหม่ ๆ และเราต้องการให้เทศกาลของอีสานมีความโดดเด่น โดยต้องการให้เป็นแพลตฟอร์มธุรกิจของนักสร้างสร้างสรรค์มากขึ้น
เรามีเป้าหมายในระยะยาว โดยในปี นี้ เราจะต้องระเบิดพลังออกมาให้ได้ก่อน ก็เลยเป็นที่มาของธีม งาน “อีสานโชว์พ(ร)าว – ISAN SOUL PROUD” นัยหนึ่งก็คือความแพรวพราว เพื่อสื่อว่าอีสานมีทรัพยากรมากมาย มีทั้งความคิดสร้างสรรค์และต้นทุนต่าง ๆ ส่วนอีกนัยหนึ่งเป็นการล้อกับคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ไปด้วย ซึ่งอีสานนั้นเป็นจิกซอว์ขนาดใหญ่ของแบรนด์ดิ้งระดับภูมิภาค ที่จะไปเติมเต็มซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร งานคราฟต์ แฟชั่น งานออกแบบ เอนเตอร์เมนต์ต่าง ๆ ภาพยนตร์ งานคอนเทนต์และแอนิเมชั่นที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจะเอามาระเบิดให้เห็นผ่านแนวคิด “อีสานโชว์พ(ร)าว”
อีกเรื่องหนึ่งที่อยากนำเสนอให้เห็นก็คือการเป็นภูมิภาคที่รุ่มรวยด้วยโอกาส เพราะจริง ๆ แล้วที่อีสานมีโอกาสมากมาย แบรนดิ้งอีสาน นอกจากแร้นแค้น ยากจน คำที่ตามมาติด ๆ ก็คือคำว่า “ขาดโอกาส” ชุดคำอะไรแบบนี้ เรามาช่วยกันปรับ Mindset แล้วเอาภาพของความรุ่มรวยหมุนออกมาโชว์โลกดีกว่า กิจกรรมในปีนี้ก็เลยจะพูดถึงเรื่องของ “โอกาส” เป็นหลัก
โอกาสที่ว่ามีอะไรบ้าง?
โอกาสในที่นี้มี 2 โอกาสใหญ่ ๆ หนึ่งคือโอกาสในเรื่องของ ‘พื้นที่’ ซึ่งแปลว่ามาทำอะไรที่อีสานก็มีโอกาส เช่น ย้ายมาอยู่ก็มีโอกาส สองคือการเอา ‘ดีเอ็นเออีสาน’ ออกไปขายก็เป็นโอกาสหนึ่งที่สำคัญ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ครีเอตออกมาเป็นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมหนึ่งของเราที่ชื่อว่า “อีสานมูนิเวิร์ส (ISAN MUNIVERSE )” หรือ “จักรวาลสายมู” ซึ่งเราอยากจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจ เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ต้องยอมรับว่างานคราฟต์ของอีสานยังสู้เชียงใหม่ไม่ได้ แต่ว่าเราคิดว่ายังมีโอกาส จึงคิดถึงการเชื่อมโยงกับจุดเด่นอื่น ซึ่งเราไปพบข้อมูลว่าเศรษฐกิจสายมูมีตัวเลขหมุนเวียนกว่า 50,000 ล้านบาท ปีนี้เราจึงจะนำเสนองานคราฟต์ต่าง ๆ ในโลกของสายมู เพื่อกระตุ้นให้คนที่อยู่ในแวดวงงานคราฟต์เห็นโอกาสจากตลาดนี้ ซึ่งเราจัดแสดง ผลงาน ต้นแบบกว่า 20 ชิ้นมานำเสนอ
นอกจากนี้ นิทรรศการหลักของเราอีกอันก็คือ “จักรวาลลาบก้อย” สำหรับอีสาน กระสุนนัดแรกในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์อีสานคนทั้งประเทศก็รู้ว่าคือ “ส้มตำ” นัดที่สองคือ “ปลาร้า” ที่ฮอตฮิตขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีนี้ ดังนั้นเราจึงจะปล่อยกระสุนนัดที่ 3 ก็คือ “ลาบก้อย” ให้เป็นไลฟ์สไตล์การกินดื่มแบบใหม่ ใน 9 วันนี้ เราจะคลี่ออกมาให้หมดว่าทำไมต้องเป็นลาบก้อย ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้คนรู้ว่ายังมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายอยู่เบื้องหลัง ทั้งวัตถุดิบ พืชพรรณ ภูมิปัญญา ไลฟ์สไตล์ และรสนิยมต่าง ๆ ของคนอีสานด้วย เราจะรู้ว่าลาบยโสฯ แตกต่างจากลาบจากจังหวัดอื่น ๆ อย่างไร ซึ่งมีหลากหลายมาก โดยเรามองว่าความหลากหลายนี้คือ “ต้นทุน” ที่เข้มแข็งมาก ซึ่งผู้คนสามารถหยิบจับเอาไปต่อยอดได้ อย่างเรื่องผักก็มีความหลากหลายมาก เรื่องข้าวคั่วก็แยกแยะออกไปได้อีกมาก ย่อยขนาดว่าข้าวพันธุ์นี้ให้กลิ่นให้รสต่างกันอย่างไร นี่ยังไม่นับเรื่องของเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลาที่มีหลากหลายชนิด เหล่านี้สะท้อนถึงความสมบูรณ์และรุ่มรวย สามารถเอาไปต่อยอดเป็นร้านอาหาร เป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ได้
นิทรรศการอีกอันที่น่าสนใจคือ “กลับอีสานดีกว่า! The Pavilion [เพราะคำตอบของ Home Comer อยู่ที่นี่]” โดยเราจะเอาคนอีสานตัวเป็น ๆ ที่กลับมาอยู่และอยู่ได้ แต่ไม่ใช่คนที่ทำธุรกิจใหญ่นะครับ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นคนตัวเล็กก็จะรู้สึกว่าไกลตัว เราเชิญคนเหล่านี้มา 20 กว่าคน โดยนำมาถอดรูปแบบความสำเร็จ เพื่อจะบอกว่ากลับมาอีสานแล้วอยู่ได้ สำเร็จได้
อีกเรื่องคือ อยากจะนำเสนอชุมชนหน้าตาบ้าน ๆ ของคนอีสาน เพื่อทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เป็นปกติ เราเลือก “ชุมชนสาวะถี” แล้วเอาความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบต่าง ๆ เข้าไปจับ ทั้งในเรื่องอาหาร ออกแบบผลิตภัณฑ์ของชุมชน เอาภาพจิตรกรรมฝาผนังมาประยุกต์เป็นอะไรต่าง ๆ เช่น เป็นหุ่นกระบอก โดยเราจะเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปในชุมชนสัก 2-3 ปี ซึ้งทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นและภาคเอกชน เพื่อให้เห็นว่าชุมชนหน้าตาแบบนี้ที่เห็นในอีสานทั่วไป มีไร่มีนา หน้าตาปกติแบบนี้ก็มีโอกาส โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ และนี่ก็คือที่มาของการที่เราเข้าไปช่วยชุมชนออกแบบสร้างสรรค์
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับงานอีสานสร้างสรรค์ก็คือการมีแพลตฟอร์มธุรกิจที่ดูเหมือนว่าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้
เราพยายามเปลี่ยน “อีสานสร้างสรรค์ให้แตกต่างจากงานดีไซน์วีคอื่น ๆ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจขึ้นมา เราก็เลยพยายามเติมในเรื่องของธุรกิจเข้าไปด้วย
งานหนึ่งที่เราชวนเข้ามาร่วมกันก็คือ “ISAN MICE EXPO 2025 ” ที่จัดขึ้นประจำทุกปีอยู่แล้ว โดยปกติเขาจะมีการเชิญผู้ซื้อด้านการจัดประชุมต่าง ๆ มาจับคู่ธุรกิจในพื้นที่ ปีนี้เราไปประชุมร่วมกันมา จนเกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันสองฝ่าย หลัก ๆ คือ CEA เตรียมคนมาขาย ส่วนสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ก็เตรียมคนมาซื้อ เราจึงเตรียมนักสร้างสรรค์ เช่น ทีม Isan Showcase ซึ่งเป็นครีเอเตอร์ที่มีการพัฒนาโปรดักต์ต่าง ๆ งานอีสานสร้างสรรค์ที่ผ่านมาก็แค่ทำโชว์เฉย ๆ แล้วบังเอิญคนซื้อผ่านมา ก็เลยเกิดการซื้อขาย ซึ่งเราจะไม่ทำให้เป็นความบังเอิญแบบนั้นอีกต่อไป แต่เราจะเชิญคนซื้อตัวจริง 200 กว่าคนมาร่วมงานเลย มาแมตช์ชิ่งเลย ซึ่งในฝั่งคนขายนั้น เราก็มีการพูดคุยก่อนเพื่อให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน มีการจัดทำแคตตาล็อกออนไลน์ โดยเข้าไปช่วยตระเตรียมการขายงานในทุกขั้นตอน เราเข้าไปทำหลังบ้านให้อย่างเข้มข้นเลย
อีกกิจกรรมหนึ่งที่เราทำสำเร็จก็คือการเชิญ The Secret Sauce มาร่วมงาน เขายอมย้ายงานมาอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน เพราะเราจะได้โอกาสจากผู้ซื้ออีก 3,000 คน ที่เป็นลูกค้าของ The Secret Sauce เราก็จะเอาครีเอเตอร์ฝั่งอีสานเข้าไปในงานจับคู่ธุรกิจ เอาไปขายของให้กับลูกค้าของ The Standard
กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้น ยืนอยู่บนหลักการที่ว่าทำอย่างไรเพื่อให้ครีเอเตอร์หรือนักสร้างสรรค์ของเราได้รับโอกาสมากที่สุด ซึ่งการเอาผู้ซื้อมาเจอกับครีเอเตอร์นี่แหละสำคัญที่สุด ซึ่งเราจะสอดแทรกเข้าไปในทุกโปรแกรม
มีแผนในระยะยาวอย่างไรบ้าง?
อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ในระยะยาว และเราทำขึ้นปีนี้เป็นปีแรกก็คือ การนำภาคการศึกษาที่คิดว่าเป็นต้นทางการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาร่วมงาน โดยเฉพาะคณะที่สอนเรื่องการออกแบบและนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมานั้นเรายังไม่ได้มีการพบเจอและแลกเปลี่ยนกับสถาบันการศึกษาในอีสานมากสักเท่าไร ปีนี้เราก็เลยจับมือกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และมหาวิทยาลัยพันธมิตรต่าง ๆ ที่มีอยู่ จัดงาน ISAN Creativity and Innovation Summit 2025 เป็นครั้งแรกกับการยกระดับเวทีวิชาการด้านการออกแบบและนวัตกรรมในระดับนานาชาติ โดยเชิญคณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาร่วมงาน ด้วยความที่เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ของเราเป็นเครือข่ายกับ World Design Week อยู่แล้ว เราจึงถือเป็นแบรนด์ระดับโลก การประชุม พูดในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม คิดว่ากิจกรรมนี้จะอยู่กับภาคอีสานต่อไปและพยายามต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
นี่คือมิติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เพราะเราจะช่วยยกระดับในภาคการศึกษา ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 - 6 กรกฎาคมนี้ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ม. ขอนแก่น
ก่อนหน้านี้ได้เกริ่นถึงความรุ่มรวยของอีสาน หรือ Local Asset ช่วยขยายความหน่อยว่าจริงๆ แล้วมีอะไรบ้าง?
ต้องบอกว่าจะเอาอะไรในอีสานก็มีทั้งนั้น ไม่ได้แร้นแค้นอย่างที่กล่าวกัน โดยเฉพาะ 3 อุตสาหกรรมหลักที่เราโฟกัสอยู่ ซึ่งเรามองว่ามีศักยภาพ หนึ่งก็คืออุตสาหกรรมบันเทิงและคอนเทนต์ เช่น ดนตรี การแสดง ศิลปะ หมอลำ ฯลฯ เรารุ่มรวยอยู่แล้ว เฉพาะที่ศรีสะเกษที่เดียวมีค่ายเพลงและค่ายหนัง 30 กว่าค่าย สองคืออุตสาหกรรมหัตถกรรม ศิลปะและการออกแบบ จะมีที่ไหนทอผ้ามากเท่าภาคอีสาน ปีที่แล้วเราทำนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจใหม่และศักยภาพของเส้นใยธรรมชาติในภาคอีสาน มีการนับช่างทอผ้าทั่วอีสาน ปรากฎว่ามีเกิน 300,000 คน นี่คือกำลังผลิตมหาศาล นี่คือความรุ่มรวย และนี่เฉพาะทอผ้าเท่านั้น ยังไม่นับงานคราฟต์สาขาอื่น ส่วนที่สาม คืออุตสาหกรรมอาหาร อีสานมีอาหารที่ไม่ด้อยเลย มีไปทุกทั่วหัวระแหงและทั่วโลก นั่นแสดงถึงความรุ่มรวยอย่างแท้จริง
ทั้งหมดทั้งมวลจะเอามาโชว์พาวในปีนี้
นั่นคือเตรียมผลักดันให้อีสานกลายเป็นกระแสหลักของสังคมไทย?
ประมาณนั้นเลย เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้อาหารอีสานเหมือนอิซากายะ จริง ๆ แล้วมันเป็นไลฟ์สไตล์ของคนไทยอยู่แล้ว ที่ตกเย็นเดินออกมาจากที่ทำงาน ถกแขนเสื้อแล้วนั่งร้านอาหารอีสาน ซึ่งไม่ต่างจากอิซากายะเลย เพียงแต่ทำยังไงให้คาแร็กเตอร์ชัดขึ้นมา ให้เป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ที่มีความป๊อปขึ้นมา เป็นอีสานป๊อป เพื่อเปลี่ยนแบรนด์ดิ้งอีสานใหม่
ภาพรวมของงานดีไซน์วีคจัดช่วงไหนบ้าง?
ที่กรุงเทพฯ - Bangkok Design Week จะมีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สงขลา - Pakk Taii Design Week ช่วงเดือนสิงหาคม เชียงใหม่ - Chiang Mai Design Week ช่วงเดือนธันวาคม ส่วนอีสาน - Isan Creative Festival ปักหมุดที่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อกรกฎาคม ผมคิดว่าเราอยู่ช่วงนี้ดีแล้ว สามารถช่วยบ้านเมืองได้ดีกว่า เพราะทุกคนไปแย่งกันจัดช่วงไฮซีซั่นหมด ไม่มีใครสู้หน้าฝน เราจึงตั้งใจอยากให้เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นเมืองในช่วงหน้าฝน แต่ก็มีความท้าทายในการจัดการเช่นกัน
แต่ก็มีงาน KUPPER ART FES 2025 ที่จัดในร่ม หนีฝนได้
ใช่ครับ เราจัดงานนี้ร่วมกับ “KULTX (ฆัลX) ” มา 2 ปีแล้ว เพราะอยากให้เป็นงานอาร์ตแฟร์ที่เป็นการซื้อขายงานศิลปะที่เป็นของคนอีสานจริง ๆ ที่จัดโดยคนอีสาน และเปิดโอกาสให้คนอีสานอย่างเต็มที่ ซึ่งเราดีลฝั่งที่เป็นคนซื้อมาจำนวนมาก ซึ่งงาน Kupper นี้จัดขึ้นในช่วงที่เป็นงาน ISAN MICE EXPO 2025 เราก็หวังว่าจะมีการขายงานเยอะ ๆ ส่วนฝั่งคนขาย ก็หวังว่าทางฆัลX ที่นอกจากเป็นคนจัดงานแล้ว ต้องเพิ่มบทบาทของตัวเองให้เป็นเทรดเดอร์ด้วย แล้วก็มีระบบการจัดการซื้อขายงานศิลปะ มีหลังบ้านที่เป็นระบบ อย่างเรื่องการซื้องานศิลปะแล้วสามารถเอาไปหักภาษีได้ ก็ให้มีการเตรียมความเรื่องในการออกใบเสร็จหรืออะไรที่เกี่ยวข้อง เราอยากให้มีความเป็นมืออาชีพอย่างเต็มที่ ซึ่งทาง CEA ก็ผลักดันฆัลX ในเรื่องนี้อยู่
อยากทราบว่ายอดการซื้อขายที่เกิดขึ้นในงานเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
มีศิลปินเข้าร่วม งานเมื่อปีที่แล้วจำนวน 80 คน จาก 30 กว่าสตูดิโอ และมีผลงานศิลปะกว่า 350 ชิ้น โดยประมาณการณ์คาดว่ามีมูลค่าซื้อขายมากกว่า 3 ล้านบาท ส่วนปีนี้ทางฆัลX รายงานมาว่าจะมีศิลปินเข้าร่วมงานมากกว่าปีที่แล้ว โดยมีประมาณ 60 กว่าสตูดิโอ แน่นอนว่าย่อมมีผลงานเข้าร่วมแสดงมากขึ้น ดังนั้นยอดมูลค่าการซื้อขายก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
ตัวเลขการซื้อขายน่าสนใจมาก แสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วในอีสานมีดีมานด์เรื่องนี้ซ่อนอยู่ เพียงแต่ยังไม่ถูกจุดขึ้นมา กลุ่มคนที่ซื้อสินค้าลักซูรี่ในอีสานยังมีอยู่มาก
น่าจะถือว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ยิ่งตอนนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเรื่องนี้อยู่ด้วย สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ถึงหนึ่งแสนบาท ซึ่งทางทีมฆัลX รับเรื่องนี้ไปศึกษา และจะพูดออกมาในช่วงที่จัดงานด้วย ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจได้มากขึ้น
คิดว่างานสร้างสรรค์ของไทยจะไประดับโลกไหม
เราไปได้อยู่แล้ว อาหารอีสานอยู่ทั่วโลกเลย อย่างตอนนี้ทีมสตูดิโอเซิ้งก็ไปถ่ายงานอยู่ที่ญี่ปุ่น
มีสิทธิ์ไหมที่งานเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเป็นนโยบายระยะยาวของประเทศ เหมือนจีนมี Made in China ที่ทำต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้
ตอนนี้เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ถือเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลปัจจุบัน และกำลังผลักดันพระราชบัญญัติ THACCA (Thailand Creative Culture Agency) หรือ สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้มีองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ โดยตรง แรกเลยก็คือการผลักดันเรื่อง Upskill และ Reskill ส่งเสริมหลักสูตรที่เป็นประโยชน์กับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สองคือเรื่องของกองทุน ลองคิดสิว่าชาวบ้านปลูกผลไม้ พืชพันธุ์เสียหายจากภัยธรรมชาติยังได้เงินชดเชย แต่คนที่เป็นนักดนตรี คนในวงการภาพยนตร์ต่าง ๆ ช่วงโควิดที่ผ่านมาคนเหล่านี้ไม่ได้รับการเหลียวแลและเยียวยาอะไรเลย ถ้ามีกองทุนก็จะมีการดูแลกันอย่างเป็นระบบ สามคือเรื่องมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ฝรั่งเศสทำขนมปังยังต้องมีใบรับรองวิชาชีพเลย นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามทำโดยมี พ.ร.บ. รองรับ อีกเรื่องที่รัฐบาลกำลังทำคือ การบูรณาการในเรื่องของกฎหมาย เพื่อให้ THACCA สามารถจัดการอุปสรรคอะไรบางอย่างได้สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
พูดได้เลยว่ามีโอกาสแน่นอนที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นนโยบายที่ถูกทำอย่างต่อเนื่อง เพราะซอฟต์พาวเวอร์ถือว่าเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
ที่ถามเรื่องนี้ก็เพราะกลัวว่าจะเป็นเพียงแค่นโยบายของพรรคการเมือง แล้วไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
ก็น่าชื่นใจสำหรับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นะครับที่จะมีพระราชบัญญัติเกิดขึ้น ซึ่งนโยบายนี้จะสามารถเอามาเป็นหัวหอกหรือตัวนำเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างดี
งานที่กำลังจะเกิดขึ้น 9 วัน 4 พื้นที่หลัก 200 กว่ากิจกรรม จะเป็นงานที่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับอีสานมากมายให้น่าติดตาม
จริง ๆ มีพื้นที่อื่น ๆ ด้วยที่เข้ามาทาง Open Call บ้างเป็นร้านกาแฟ บ้างเป็นแกลเลอรี่ ก็จะจัดในพื้นที่ของตัวเอง เรียกได้ว่าเราเปลี่ยนขอนแก่นทั้งเมืองให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ในช่วงกิจกรรมนี้ และมีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมงานจากทุกจังหวัดของภาคอีสาน
การระเบิดความรุ่มรวยทางความคิดสร้างสรรค์ของอีสานในครั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง การโยนความคิดผ่าน 200 กว่ากิจกรรมลงไป การระดมคนจากทั้ง 20 จังหวัดมาระดมสมอง การเอาเวทีใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาสทั้งหมดมากองรวมไว้ที่เดียวกัน วิธีแบบนี้ไม่ต่างจากการแหย่ไข่มดแดง กว่าจะได้ของดีจากรังเอามาทำกิน อาจจะต้องรอฝูงมดแดงแตกกระจายไปก่อน ดังนั้นงานในปีถัดไป เราน่าจะได้เห็นเมนูจากไข่มดแดงที่ได้มาในปีนี้ทั้งหมด คงต้องอดใจรอความอร่อยจากฝีมือนักปรุงที่สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะคัดสรรมา
อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ปีนี้เราคงต้องเข้าไปช่วยกันแหย่ไข่มดแดงกันให้เยอะๆ ดีไม่ดีอาจได้แม่เป้งมาคั่วห่อกินกับยอดกระโดนด้วยก็ได้ แล้วพบกันที่ขอนแก่น 28 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2568
© 2025 Khaoyai Connect. สงวนลิขสิทธิ์
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือเผยแพร่เนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนโดยไม่ได้รับอนุญาต