
อย่ามัวแต่จมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต
แต่เราต้องก้าวต่อไป
1
ในชีวิตคนดูกีฬา มันจะมีการแข่งขันบางแมทช์ที่แม้จะจบไปแล้ว แต่ยังทำให้เรานอนไม่หลับ พอเคลิ้มจะหลับก็ฝันซ้ำๆ ถึงจุดเปลี่ยนของการแข่งขันที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ตื่นขึ้นมาก็ไม่อยากเชื่อกับผลลัพธ์ที่เกิด โลกหม่นไปทั้งโลก คล้ายเวลาสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไป
ถ้าเป็นแฟนหงส์ เดาว่าหนึ่งในแมทช์ที่ว่าน่าจะเป็นการแข่งขันกับเชลซีในช่วงปลายพรีเมียร์ลีก 2013-14 ที่กัปตันทีม Steven Gerard เกิด “ลื่นบันลือโลก” ทำให้พลาดแชมป์ไปอย่างน่าเสียดายทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นชนะมา 11 นัดรวด แต่สำหรับแฟนเทนนิส (โดยเฉพาะที่เชียร์ Jannik Sinner) แมทช์ล่าสุดที่น่าจะทำให้อกหักจนอาจถึงกับเผชิญ 5 Stages of Grief คือ รอบชิงชายเดี่ยว Roland Garros (French Open) 2025 ที่เพิ่งจบไปเมื่อ 3 อาทิตย์ก่อน
ในแมทช์นี้ Jannik Sinner เป็นฝ่ายขึ้นนำ 2-0 เซ็ตก่อน และแม้ Carlos Alcaraz จะได้เซ็ตที่ 3 ไป แต่ในเซ็ตที่ 4 Sinner มีโอกาสได้แมทช์พอยต์ถึง 3 แมทช์พอยต์ แต่กลับปิดแมทช์ไม่ได้ และสุดท้ายกลายเป็นฝ่ายแพ้ Alcaraz ไปแบบฉิวเฉียดด้วย super tiebreak ในเซ็ตที่ 5 รวมเวลาการแข่งขันทั้งหมด 5.29 ชั่วโมง
ความพ่ายแพ้ที่เจ็บปวดที่สุด ไม่ใช่แพ้ขาด แต่เป็นการแพ้แบบสูสี เฉียดกันไปนิดเดียว แพ้… ทั้งๆ ที่รู้ว่าเราสู้ได้และมีสิทธิชนะ ยิ่งเป็นคนที่เข้าไปใกล้ชัยชนะมากขนาดนั้น แต่กลับคว้าเอาไว้ไม่ได้ การต่อสู้อันยาวนานที่ทุ่มเทไปทั้งหมดก็สูญเปล่า เพราะการแข่งขันมีผู้ชนะได้เพียงคนเดียว
บอกเลยว่าขนาดกองเชียร์อย่างเราๆ ที่ไม่ได้ลงแข่งเองยังซึมกันมาหลายวันขนาดนี้ ขนาดว่าวิมเบิลดันเริ่มแล้วก็ยังหลอน จินตนาการไม่ออกเลยว่าตัวของ Jannik Sinner เองที่อยู่ในวัยเพียง 23 จะต้องรับมือกับความรู้สึกที่หนักอึ้งมากมายขนาดไหน
Darren Cahill โค้ชของ Sinner บอกว่า หลังเดินออกจากสนามไป Sinner ขังตัวเองอยู่ในห้องพักนักกีฬานาน 15-20 นาที (โดยนักข่าวคนหนึ่งออกมาบอกภายหลังว่า Sinner ร้องไห้อยู่ 15 นาที ก่อนออกมาขอโทษนักข่าวที่ออกมาให้สัมภาษณ์ช้า) จากนั้นทีมโค้ชทยอยกันเข้าไปสวมกอด Sinner โดยไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่าพวกเขาภูมิใจในตัว Sinner แค่ไหน แต่ถึงจะเจ็บปวด Sinner ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้ใหญ่เกินวัยก็ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังอย่างเข้าใจชีวิตว่า “ใช่ มันเจ็บปวด แต่เราจะมัวมานั่งเสียใจตลอดไปไม่ได้ เราคงต้องพยายามลืมมันไป และเลือกเก็บแต่เรื่องดีๆ ไว้ (เช่นความจริงที่ว่าเขาพัฒนาผลงานบนคอร์ทดินได้ดีแค่ไหน)” เขายังบอกอีกว่า “ความพ่ายแพ้แบบนี้เกิดขึ้นได้เสมอ และมันเคยเกิดกับนักเทนนิสคนอื่นมาก่อน เขาไม่ใช่คนแรก”
2
หนึ่งในนักเทนนิสที่เคยผ่านประสบการณ์พ่ายแพ้อย่างเจ็บปวดเช่นเดียวกับ Sinner มี Roger Federer รวมอยู่ด้วย ในรอบชิง Wimbledon 2019 ที่ต้องตัดสินกันถึงเซ็ตที่ 5 Federer เป็นฝ่ายเบรค Novak Djokovic ได้ก่อน และออกมาเสิร์ฟเพื่อปิดแมทช์ตอนขึ้นนำ 8-7 เกม โดยเขามีโอกาส 2 แมทช์พอยต์ เมื่อสกอร์อยู่ที่ 40-15 แต่เขาก็กลับทำไม่ได้ ทำให้เสมอกันที่ 8-8 และต้องตัดสินกันด้วยไทเบรก ซึ่งเขาเป็นฝ่ายแพ้ไป
แน่นอน นี่คืออีกหนึ่งแมทช์หลอนตลอดชีวิตของแฟนๆ Federer โดยเฉพาะว่าถ้าเขาทำแต้มนั้นได้สำเร็จ เขาจะได้ถ้วย Wimbledon เป็นสมัยที่ 9 และ Grand Slam รายการที่ 21 อันเป็นสิ่งที่แฟนเฟดอยากจะเห็นเขาปิดท้ายการเป็นนักเทนนิสอาชีพด้วยถ้วยใบนี้มากกว่าใบไหนๆ
แต่ Federer ก็ยังโชคดีกว่านักเทนนิสอีกหลายคน เพราะถึงจะแพ้แบบเจ็บปวด แต่นั่นเป็นความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายอาชีพของเขาแล้ว ที่สำคัญ เขาได้ Grand Slam มาแล้วถึง 20 รายการ ไม่เหมือนกับ กรณีอย่าง Guillermo Coria ที่แพ้ในรอบชิง Roland Garros 2004 และไม่เคยทำใจได้เลยตลอดชีวิต
ปีนั้น Coria จากอาร์เจนตินาทำผลงานบนคอร์ทดินได้ดีมากและเป็นหนึ่งในตัวเก็งที่จะคว้าถ้วย Roland Garros โดยเฉพาะเมื่อ Federer พลาดท่าแชมป์เก่า 3 สมัย Gustavo Kuerten ไปตั้งแต่รอบ 4 และในยุคนั้น Rafael Nadal ยังไม่แจ้งเกิด ในรอบชิง เขาเจอกับ Gaston Gaudio ม้ามืดมือวางอันดับ 44 ของโลก Coria นำ Gaudio ไปแล้วใสๆ 6-0, 6-3 ใครดูก็ต้องคิดว่าชนะแน่ๆ แต่พอเข้าเซ็ต 3 Coria เกิดอาการบาดเจ็บ และสุดท้ายแพ้ Gaudio ไปใน 5 เซ็ต ทั้งๆ ที่เป็นฝ่ายได้แมทช์พอยต์ก่อน
ความพ่ายแพ้ครั้งนั้นทำลายชีวิตของ Coria ไปเลย เขาไม่เคยได้เข้ารอบชิงแสลมอีกเลย และไม่ได้สัมผัสแชมป์รายการใดๆ อีกเลยด้วย แม้แต่รายการระดับ Challenger ที่เขาต้องลงมาแข่งตามอันดับที่หล่นฮวบลงมา สุดท้าย Coria รีไทร์อย่างเงียบๆ ไปในปี 2009 ด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังและสภาพจิตใจที่ไม่สามารถเรียกความมั่นใจกลับมาได้
3
คำถามที่หลายคนกำลังสงสัยอยู่ตอนนี้ก็คือ แล้ว Jannik Sinner ล่ะ… จะได้รับผลกระทบทางจิตใจจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้แค่ไหน?
แน่นอนว่าคำตอบนั้นไม่มีใครรู้ แม้แต่ Sinner เอง แต่ถ้าเราจะเดาจากวิธีคิดของเขาที่สะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์เก่าๆ ก็น่าจะพอใจชื้นได้บ้างว่าบาดแผลนี้อาจไม่ได้ต้องการเวลาเยียวยามากนัก เพราะอย่างเหตุผลที่ Sinner เลือกบอกลา “สกี” และหันมาจริงจังกับเทนนิสว่า ในการเล่นสกี ถ้าเขาล้มแค่ครั้งเดียว เขาสามารถแพ้ได้เลย แต่สำหรับเทนนิส ถ้าเขาทำพลาด เขายังมีโอกาสกลับมาแก้ไขใหม่ได้เสมอ จนกว่าจะ Game-Set-Match (Sinner เป็นแชมป์สกีระดับเยาวชน แต่พออายุ 13 ก็เลือกจะเอาดีด้านเทนนิส เขาออกจากบ้านไปฝึกเทนนิสที่ Piatti Tennis Center โดย Riccardo Piatti ออกทุนให้ทั้งหมดเพราะเห็นแวว) หรืออย่างที่ Darren Cahill เคยกล่าวถึงลูกศิษย์คนนี้ไว้ว่า Sinner เข้าใจดีว่าเทนนิสเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา ในวัยที่เขากำลังข้ามผ่านจากวัยหนุ่มไปสู่วัยผู้ใหญ่
ทัศนคติในสองเรื่องนี้ของ Sinner ไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ แล้ว มันคือสองเรื่องในหลายๆ เรื่องที่ Roger Federer เคยพูดไว้แล้วเมื่อตอนที่ได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ให้กับบัณฑิตในงานรับปริญญาของ Dartmouth College เมื่อปี 2024 ในครั้งนั้น Federer ยกเอาบทเรียนจากเทนนิสมาเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตไว้ว่า “It’s only a point. When it’s done, it’s just what’s behind you” (อย่ามัวแต่จมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต แต่เราต้องก้าวต่อไป) และ “Life is bigger than the court” (ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็เหมือนชีวิตในสนามเทนนิส มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตทั้งหมดของเรา)
บางครั้ง ความพ่ายแพ้อันเจ็บปวดก็เกิดขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนสำคัญบางอย่าง ขอแค่ข้ามผ่านมันไปได้ก็พอ … หวังว่าเด็กหนุ่มจากเมืองเล็กๆ ในอิตาลีที่ชื่อ Jannik Sinner จะใช้มันได้อย่างเป็นประโยชน์ในอาชีพเทนนิสและชีวิตของเขาต่อไป
อ้างอิง
atptour.com
thedailyguardian.com
© 2025 Khaoyai Connect. สงวนลิขสิทธิ์
ห้ามคัดลอก ดัดแปลง หรือเผยแพร่เนื้อหาทั้งหมดหรือบางส่วนโดยไม่ได้รับอนุญาต