
นับถอยหลังสู่งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569
ฝ่ายจัดงานยืนยันพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 (Udon Thani International Horticultural Expo 2026) ถือเป็นงานสำคัญครั้งแรกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จัดขึ้นภายใต้ความคิด Diversity of Life: Connecting Water, Plants, and People for Sustainable Living ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต สายสัมพันธ์แห่งน้ำ พืชพรรณ และผู้คน สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้จัดงานระดับโลกเพื่อให้เกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ และทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่สามารถจัดงานขนาดใหญ่ระดับนานาชาติได้ และงานด้านพืชสวนโลกในครั้งนี้ยังจะเกิดการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านการเกษตร และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ มากมาย
งานมหกรรมพืชสวนโลก เป็นงานจัดแสดงพืชสวนกลางแจ้ง จัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใน พ.ศ.2503 หลังจากนั้นก็มีการจัดงานต่อเนื่อง โดยหมุนเวียนประเทศเข้าภาพไปเรื่อยๆ ภายในประเทศภาคีสมาชิก โดยมีสมาคมพืชสวนฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน สำหรับประเทศไทยของเราเคยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้งด้วยกัน คือ “มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งเป็นงาน Type A และจัดอีกครั้งใน พ.ศ.2554 ในชื่อเดียวกัน แต่เป็นงานขนาด Type B งานที่จัดขึ้นทั้งสองครั้งนี้ทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ ทั้งในระดับจังหวัด รวมถึงภาคเหนือตอนบน ทำให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวมีรายได้เพิ่มขึ้น
ผ่านมา 14 ปี สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศได้มีการประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการให้ไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้งใน พ.ศ.2569 โดยจะจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี งานนี้เป็นขนาด Type B โดยจะจัดงานคฃตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2569 -14 มีนาคม พ.ศ.2570 ในพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ต.กุดสะ อ.เมือง จ.อุดรธานี นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์กาจัดงานพืชสวนโลกที่จัดบนพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งจะเชื่อมโยงสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนในท้องถิ่น และยังสะท้อนให้เห็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญในเทคนิคพืชสวนทางการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ใน พ.ศ.2569 ที่จะมาถึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการจัดงานระดับโลก เพราะในปีเดียวกันนี้ยังเป็นวโรกาสอันดีในการร่วมเฉลิมฉลองการขึ้นครองสิริราชสมบัติครบ 10 ปี ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 และเฉลิมฉลองสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระขนมมายุครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา และยังเป็นการครบรอบการสถาปนาเมืองอุดรธานีครบ 134 ปี ไปในตัวอีกด้วย จังหวัดอุดรธานีจึงกำหนดระยะเวลาการจัดงานให้มี 134 วัน สอดคล้องกับอายุของเมืองอุดรธานีด้วย
งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 จะทำให้ขนาดของจีดีพีเพิ่มขึ้น เสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีโลก และทำให้เห็นว่าไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีพืชสวนที่สำคัญ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยในหลากหลายมิติ เช่น สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อพันธกิจหลักของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศในการส่งเสริมความสำเร็จของอุตสาหกรรมพืชสวนผ่านการปลูกพืช ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมไปถึงการพัฒนาสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ทั้งคนในรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป

จุดเด่นสำคัญของจังหวัดอุดรธานีในฐานะเจ้าภาพการจัดงานครั้งนี้ คือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wet Land) หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ป่าบุ่งป่าทาม” ที่มีอยู่กว่า 900 จุด รวมเป็นพื้นที่กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นรอยต่อระหว่างบกกับน้ำ มีระบบนิเวศที่หลากหลาย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่งายิ่งในการจัดงาน ด้วยเพราะยังไม่มีใครเคยจัดงานในประเด็นนี้มาก่อน ซึ่งย่อเกิดงานวิชาการใหม่ๆ และเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นอย่างแน่นอน
ซึ่งจังหวัดอุดรธานีก็ประกาศชัดเจนว่าตนเองพร้อมก้าวเข้าสู่เมืองที่ยั่งยืน (Sustainable City) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเมืองอัจฉริยะการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และ MICE ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 จัดขึ้นภาพใต้แนวคิด ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต สายสัมพันธ์แห่งน้ำ พืชพรรณ และผู้คนสู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน บนพื้นที่รวม 1,030 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้งาน 6 ส่วน ได้แก่
- Arrival, Information, ส่วนต้อนรับ และจำหน่ายบัตรเข้างาน
- International Garden Zone
- Green House-Exhibition Building Zone
- Argriculture Innovation Zone
- Theme Garden - Thai Agriculture and Key Building Zone
- Sustainable Forest Station and Nursery Zone
โดยภายในงานมีสถาปัตยกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตอีสาน ที่มีบริบทพื้นที่สีเขียวและสายน้ำที่กลมกลืนไปด้วยกัน โดยนำเสนอผ่านสถาปัตยกรรมและวัสดุพื้นถิ่น ที่ผ่านเทคนิคด้านวิศวกรรมโครงสร้างที่มุ่งเน้นความยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.อาคารต้อนรับ (Arrival Building) และทางเชื่อมลอยฟ้า (Sky Walk) จากจุดเริ่มต้นของงานที่จะแสดงความเชื่อมต่อของธรรมชาติและสายน้ำ และเชื่อมต่อกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (Visitor Center) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าชม 2.อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ มีแนวคิดมาจากวัดป่าภูก้อน ซึ่งเป็นรวมความศรัทธาตามวิธีชาวพุทธของชาวจังหวัดอุดรธานี สะท้อนความงดงามและเอกลักษณ์ท้องถิ่น 3.อาคารนิทรรศการ และอาคาเรือนกระจก (Green House) ใช้จัดแสดงและประกวดสวนในร่ม เป็นอัตลักษณ์ของอีสานที่เอาเฮือนแฝดมาตีความใหม่ โดยมีพื้นที่ลานกลาง สะท้อนการใช้พื้นที่ของคนอีสานที่ทันสมัย 4.หมู่บ้านอีสาน กลุ่มอาคารที่จำลองอาคารอีสานแบบต่างๆ เช่น เฮือนเกย เฮือนโข่ง เฮือนไฟ และวิถีชีวิตของชาวอีสานท้องถิ่น ซึ่งจะใช้เป็นลานแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวอีสาน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่อำนวยความสะกวกต่างๆ และจุดจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม
งานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้จะเป็นเวทีพิสูจน์ความกลมกลืน ความหลากหลาย ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) ที่จะร่วมกันพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอย่างสดใส และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งานนี้นับเป็นครั้งแรกที่จัดในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเป็นงานพืชสวนโลกบนพื้นที่ชุ่มน้ำครั้งแรกของโลก

นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต้อนรับและแสดงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า “งานมหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานจัดแสดงเทคโนโลยีด้านพืชสวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสจัดมาแล้ว 2 ครั้งที่ จ.เชียงใหม่ สำหรับงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 เป็นการทำงานร่วมกันของกรมวิชาการเกษตร จ.อุดรธานี สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย การแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวนในระดับชาติและนานาชาติ ส่งเสริมการและพัฒนาการเกษตร และการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้า การลงทุน และเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า จ.อุดรธานี จะเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมการเกษตร ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต และต่อยอดสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
สำหรับงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 ชูวิสัยทัศน์ประเทศไทยมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ที่พร้อมนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและศักยภาพด้านพืชสวนของไทยก้าวสู่ระดับชาติ โดยมีโซนต่างๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วยพืชสวนจากองค์กรที่ได้เชิญไปแล้วกว่า 50 องค์กร และองค์กรระดับนานาชาติที่ตอบรับว่าจะเข้าร่วมแล้ว 8 ประเทศ จากที่เชิญไป 20 ประเทศ
กิจกรรมในงานประกอบด้วย การประชุมวิชาการด้านพืชสวน การประกวดพืชสวนชนิดต่างๆ การแสดงศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะของชาวอีสาน การให้ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิต และอื่นๆ ในนามของกรมวิชการเกษตรที่เป็นสมาชิกของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศหรือ AIPH ขอเรียนว่าการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ ทั้งผังแม่บท การบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์ และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี
การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้น ผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านพืชสวน เพื่อนำมาปรับใช้กับพื้นที่ให้เหมาะสมกับภาคอีสานตอนบน”

ด้านนางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนประธานเปิดงานแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 ที่โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 ระบุว่า “งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 ถือเป็นงานใหญ่ระดับโลกที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในการจัดงานระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตร รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยในเวทีโลก ดังนั้นรัฐบาลไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนสมดุลของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติตามกรอบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โมเดล หรือระบบเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว โดยมอบหมายให้กรมวิชาการการเกษตร จ.อุดรธานี และสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการร่วมกันจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานตามแนวคิดในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการสร้างสรรค์เมืองสีเขียว การแสวงหาสมดุลของการใช้ชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ โดยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุน อำนวยความสะดวก พร้อมวางโครงสร้างการจัดงานในทุกมิติ ซึ่งดิฉันคิดว่าการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 จะเป็นอีกหนึ่งเวทีโลกที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนโลกของไทย เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีเพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ใน จ.อุดรธานี เพื่อจะได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมการเกษตร การค้า และการลงทุน ในนามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดิฉันเชื่อมั่นว่าผลสัมฤทธิ์จกาการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3 ล้านคน และทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ใสภาคการท่องเที่ยวเกิดการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน รวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายตลอดช่วงเวลาการจัดงาน 134 วัน คาดว่าจะมีรายได้สะพัดกว่า 32,000 ล้านบาท”

ขณะที่ นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ระบุว่า “เราส่งมอบพื้นที่ 1030 ไร่ ให้กรมวิชาการเกษตรล่วงหน้าถึง 2 เดือน ผมขอบอกว่าประชาชน จ.อุดรธานีทั้งหมดมีความคาดหวังกับงานนี้มาก และขอยืนยันกับท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่งว่าผมและจังหวัดอุดรธานีมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2569 วันเปิดงาน และต่อไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2570 เราเตรียมความพร้อมทุกด้าน เรามีกรรมการด้านขนส่ง กรรมการด้านการเตรียมพื้นที่ กรรมการด้านการต้อนรับ กรรมการด้านการจัดการในเรื่องของสถานที่ และที่พัก เราเตรียมการว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนเป็นเจ้าภาพที่ดี เราเตรียมไกด์ เตรียมของที่ระลึก สำนักงานวัฒนธรรมไปเตรียมอะไรที่ดีไว้เสนอให้กับพี่น้องที่มาเที่ยว โดยคาดหมายว่าจะมีจำนวนเป็นล้านคน สำนักงานพัฒนาชุมชนก็เตรียมพร้อม มีวิสาหกิจชุมชนอะไรบ้างที่ต้องเตรียมการ ในด้านที่พัก เรามีถึง 9,410 ห้อง ผมตอบท่านได้เลยว่าเรามีความพร้อมในการรองรับ เรามีตั้งแต่โฮมสเตย์เล็กๆ ไปจนถึงสถานที่ที่สามารถรองรับบุคคลสำคัญ วันที่ทางสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศมาตรวจงานเมื่อวานที่ 24-25 มกราคมที่ผ่านมา เราพาเขาไปดูว่าเรามีความพร้อมอย่างไร ที่พักเราเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องการเดินทาง เราเตรียมรถที่พร้อมจะขับเคลื่อนพี่น้องจากสถานีรถไฟไปยังหนองแด ซึ่งเป็นรถกรีนหรือรถไฟฟ้า ส่วนที่เดินทางมาโดยเครื่องบิน เราก็พร้อมมาก เพราะสนามบินของเราเป็นระดับนานาชาติ เราเตรียมทั้งหมดไว้แล้ว
ในขณะเดียวกัน ในเรื่องพื้นที่จัดงาน เราก็เตรียมไว้พร้อมแล้วเช่นกัน ท่านรองฯ (กรมวิชาการเกษตร) สามารถไปเริ่มก่อสร้างพรุ่งนี้ก็ได้เลยนะครับ เพราะเราถมพื้นที่หมดแล้ว ต้นไม้เราก็ปลูกไปก่อนแล้ว ผมได้รับความกรุณาจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจัดการคิกออฟเอาบัวไปปลูกในบึงที่หนองแดแล้ว เพราะบัวคือสัญลักษณ์หนึ่งของงานพืชสวนโลกในครั้งนี้ เราทำจิตอาสา พี่น้องไปช่วยกันอย่างเต็มที่ ผมสามารถบอกได้เลยว่าจังหวัดอุดรธานีมีความพร้อม เราจะทำให้สำเร็จและให้ดีที่สุด เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ความคาดหวังดีๆ ของพี่น้องชาวอุดธานี เราพร้อมที่จะเป็นคนต้อนรับ พร้อมที่จะเป็นคนบริการ และพร้อมที่จะเป็นเจ้าบ้านที่ดี

ด้านนางนิชาภา ยศวีร์ รองผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ระบุว่า “พันธกิจหลักของเราคือการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงบวกเข้าสู่ประเทศ หรือที่อาศัยอุตสาหกรรม MICE ซึ่งก็คือการประชุมองค์กร การประชุมนานาชาติ การจัดงานแสดงสินค้า การจัดเฟสติวัล ส่วนตัวเชื่อว่า สสปน. เป็นหน่วยงานมาร์เด็ตติ้งให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะเอาชื่อประเทศไทยไปปักหมุดในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นผู้ผลักดัน หรือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องผลักดัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งเน้นในการผลักดันทางด้านการเกษตร เพราะการเกษตรของไทยมีพื้นที่ในเวทีโลกกว้างไกลมากๆ โอกาสที่จะดึงนักลงทุนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของวิทยาศาสตร์การเกษตรเข้ามาในพื้นที่ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะช่วยขับเคลื่อนการเกษตรของไทยให้ก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพงานราชพฤกษ์มาแล้ว แสดงให้เห็นว่าศักยภาพของไทยในการจัดงานพืชสวนไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานราชพฤกษ์ที่จัดขึ้นเมื่อ 20 ที่แล้วนั้น ประเทศไทยของเราได้เหรียญทองเหรียญแรกของโลกจาก AIPH ดังนั้นด้วยเหตุผลนี้ ทาง สสปน. มีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยสามารถจัดงานพืชสวนได้อีกครั้งหนึ่ง
โจทย์ของเราคือ จะเอางานพืชสวนไปลงจังหวัดไหน ก็เลยอาศัยการเชื่อมโยงผ่าน MICE City ที่ทาง สสปน. ของเราแต่งตั้งไว้ทั้งหมด 10 จังหวัด กระจายใน 4 ภาคของประเทศไทย พอโยนความคิดเรื่องการจัดงานพืชสวนลงไปก็ได้รับการตอบรับจากจังหวัดอุดรธานีที่สนใจอยากจะจัดงานพืชสวน เราเองก็ได้สำรวจโดยอาศัยระเบียบของ AIPH และพิจารณาแล้วว่าอุดรธานีมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งประวัติศาสตจร์การจัดงานพืชสวนโลก ไม่มีเคยมีครั้งไหนที่จัดในพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้นน่าจะเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์สำคัญที่ทาง AIPH จะได้ประโยชน์ ประเทศไทยเองก็จะได้ประโยชน์ และเป็นโอกาสที่จะเอาชื่อประเทศไทยไปไว้บนเวทีโลก เรามีการพูดคุยกันกับจังหวัดอุดรธานี มีการคิดธีมกันออกมาว่า Diversity of Life แล้วจึงทำโครงการเบื้องต้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติหลักการ แล้วก็ได้รับการอนุมัติมา ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้พูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมตั้งแต่วันแรก จนสามารถคลอดงานพืชสวนโลกอุดรธานี นี้ออกมาได้
เราเชื่อว่าการจัดงานเฟสติวัลขนาดใหญ่อย่างงานพืชสวนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะเราสามารถดึงผู้ที่สนใจมาได้กว่า 3.7 ล้านคน จากประสบการณ์และการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์แล้ว เราก็เชื่อว่าจะสามารถมร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไม่ต่ำว่า 32,000 ล้านบาท เรื่องของภาษีที่จะเข้าสู่ประเทศมีไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท ในเรื่องของการสร้างานมีไม่ต่ำกว่า 81,000 อัตรา แล้วก็การจัดงาน 134 วันนี้ นอกเหนือจากการสร้างมรดกทางเศรษฐกิจเข้าสู่จังหวัดและประเทศไทยได้แล้ว เรายังสามารถสร้างมรดกในเชิงของภาคสังคม เช่น การร่วมมือกันระหว่างประเทศ การที่จะดึงเอานานาชาติ 20 ประเทศมาออกงานในครั้งนี้ จะต้องมีการร่วมมือกันในเรื่องขององค์ความรู้ในเรื่องของการจัดการ การจัดการเชิงพาณิชย์ ความมือในการศึกษาวิจัย หรือแม้แต่การสร้างพืชพรรณที่เป็นพืชหายาก การอนุรักษ์ และการสร้างพืชพรรณใหม่ ที่จะเปิดตลาดของประเทศไทยไปสู่นานาชาติ

ตอนนี้การจัดงานเดินหน้าไปมากแล้ว คอนเทนต์หลักที่มาจากกรมวิชาการเกษตรก็ถูกผลักดันอย่างเต็มที่ จังหวัดอุดรธานีเองก็เดินหน้าเต็มกำลังในฐานะเจ้าของพื้นที่ ส่วนทาง สสปน. เองที่ถือว่าป็นผู้ริเริ่มความคิดการจัดงานนี้ และสามารถช่วยประมูลจนได้สิทธิ์ในการจัดงาน เราเองก็จะยังอยู่ร่วมกันบนเส้นทางนี้ในการประสานงานกับทาง AIPH เพื่อให้ AIPH มั่นใจว่าเราจัดงานได้ จังหวัดอุดรธานีจะทำได้ด้วยความสำเร็จ ซึ่ง สสปน. พร้อมที่จะเคียงไหล่เดินไปด้วยกัน เพื่อให้งานนี้มีความสัมฤทธิ์ผลตาที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งในเมื่อเชียงใหม่ได้เหรียญทอง ทำไมจังหวัดอุดรธานีจะไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้น สสปน. จะให้ความรู้ที่มีในการผลักดันงานให้สำเร็จอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในประวัติศาสตร์การจัดงานพืชสวนโลกของ AIPH
โจทย์ตอนนี้ไม่ใช่ว่าจะจัดงานได้ดีหรือไม่ แต่จะสามารถสร้างหรือใช้ประโยชน์จากพืชสวนโลกได้สูงสุดนอกจากเกณฑ์มาตรฐานได้อย่างไร นั่นคือเวทีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน แต่อาจจะต้องขออาศัยความร่วมจากทุกภาคส่วนในประเทศ ตั้งแต่ภาครัฐมาจนถึงเอกชน เพราะว่าประเทศไทยอยู่ในฐานะเป็นเจ้าภาพ แม้งานจะอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี แต่ประสบการณ์ของผู้ที่มาร่วมงานเริ่มต้นทันทีที่เขาย่างเท้าเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้นในกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบทุกการสัมผัสจะต้องมีการต้อนรับอย่างมิตรไมตรี รวมทั้งแสดงความพร้อมของการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทยทำได้แน่นอน และทำได้สวยงามมาโดยตลอด และครั้งนี้ก็จะเป็นการประกาศศักยภาพของเราด้วย
ความพร้อมของจัดงานงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี 2569 ถูกยืนยันจากเจ้าภาพหลักทุกฝ่ายว่าพร้อมเต็มที่ ไม่ได้มีการลดขนาดงานดังที่เคยเป็นข่าวลือมาก่อนหน้านี้ และเตรียมนับถอยหลังสู่วันเปิดงาน 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2569 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงปีเศษ ณ เวลานั้นถนนทุกสายจะมุ่งไปที่จังหวัดอุดรธานี เพราะนี่คืองานมหกรรมขนาดใหญ่ด้านพืชสวนที่คนไทยและนานาประเทศตั้งตารอ

นอกจากการแถลงข่าวของฝ่ายหลักๆ ของการจัดงานแล้ว ภายในงานแถลงข่าวในครั้งนี้ยังมีการแสดงร้องเพลง “พืชสวนโลกอุดรธานี” โดย “ไมค์ ภิรมย์พร” นักร้องชื่อดังชาวกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน มีเนื้อหาเชิญชวนทั้งคนไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมงาน โดยเพลงนี้จะถูกใช้ประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดในผู้ที่สนใจมาร่วมงาน
บนเวทีเดียวกันมีการสัมภาษณ์ “จักรกฤษณ์ อนันตกุล” ศิลปินผู้ออกแบบกราฟฟิกของงาน ซึ่งระบุว่า เขาได้หยิบยืมสีจากดอกบัวแดง และลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงมาใช้ และการใช้ภาพที่เป็นจุดเด่นสำคัญของจังหวัดอุดรธานีมาซ้อนเรียงกันก็เป็นแสดงออกถึงความหลากหลาย ผู้คน สายน้ำ พืชพรรณ ซึ่งเป็นธีมหลักของงาน
“จิรพรรณ โตคีรี”เจ้าของผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ ของแต่งบ้าน และไลฟ์สไตล์แบรนด์ “TOUCHABLE” ศิลปิน นักออกแบบผลิตภัณฑ์และ Designer of the year 2004 ก็ได้รับเชิญมาออกแบบสินค้าของฝากประจำงาน โดยได้ใช้ความเชี่ยวชาญในการออกแบบเสื่อทอมือพื้นถิ่นให้ทันสมัยด้วยสีสันและลวดลายที่วิจิตร ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นกระเป๋าถือที่สวยงามน่าเก็บสะสม

ตลอดเส้นทางอีกปีกว่าที่เราจะได้ชมความสวยงามของงานพืชสวน เชื่อว่าจะต้องมีกิจกรรมเชิญชวนต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อให้ผู้คนรู้สึกอยากติดตามความเคลื่อนของการจัดงาน โดยในงานแถลงข่าวครั้งนี้ก็มีการประกาศการประกวดออกแบบมาสคอตด้วย เปิดกว้างทั้งมืออาชีพ นักเรียน นักศึกษา ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 50,000 บาท โดยเปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ - 1 เมษายน 2568
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของงานประกวด สามารถติดตามได้ที่ https://contest-thailand.com/udon-thani-international-horticultural-expo-2026/
