
THAI GEOGRAPHICAL INDICATION
พัฒนาแหล่งผลิตสินค้า GI ไทยอย่างยั่งยืนบนฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์ ส่งเสริมเรื่องราวท้องถิ่น
ในงาน KHAO YAI FOOD & WINE FESTIVAL 2025 ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ Ile Cafe & Camping Khao Yai อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นอกจากไฮไลต์การชิมไวน์ตลอดทั้งงานแล้ว ยังมีการอบรมเสวนาต่างๆ ที่น่าสนใจด้วย
เซสชั่นที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ โชว์การทำสเต๊กฝีมือปรุงของเชฟเจมส์ – พัศกฤต ธนาอัญมณี ในหัวข้อ “สร้างสรรค์เมนู GI อาหารโคราชกับรสชาติที่หายไป The Lost Taste” ซึ่งเชฟเจมส์หยิบเอา “มะขามเทศเพชรโนนไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้า GI ของจังหวัดนครราชสีมามารังสรรค์เมนูแปลกใหม่ชวนชิม
“เมนูนี้ผมคิดขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ตอนแรกทางพานัชย์จังหวัดอยากให้ผมทำเมนูจากข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ แต่ว่าเตรียมไม่ทัน หันไปเจอมะขามเทศเพชรโนนไทย ก็เลยหยิบมาจับคู่กับเนื้อพิคานย่าของโคราชวากิว และเพื่อให้เมนุมีควาพิเศษ ผมจึงเอาผงลาบมาหมักกับเนื้อ แทนที่จะเป็นเกลือและพริกไทยแบบตะวันตก ซึ่งผงลาบนี้เข้ากันกับเนื้อมาก โดยกลิ่นของเครื่องเทศจะแทรกเข้าไปในเนื้อด้วย มีความหอมเฉพาะตัว ส่วนซอสสำหรับราดเนื้อ ผมเอามะขามเทศเพชรโนนไทยมาเบลนด์ปั่นละเอียดกับเครื่องเทศอื่นๆ เช่น ผักชีลาว เลยกลายเป็นซอสสูตรพิเศษที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน ด้วยความที่มะขามเทศเพชรโนนไทยมีความมันและหวานในตัวเอง และมีความถั่วๆ แป้งๆ จึงมีความลงตัวมาก”
หลังจากพลิกเนื้อจนได้ที่ระดับสุกกลางมีเดียมแรร์แล้ว เชฟเจมส์ก็หั่นเป็นชิ้น เสียบไม้เสริฟ์ เคียงด้วยไวลด์ วอเตอร์เครส พร้อมราดซอสมะขามเทศเพชรโนนไทยซึ่งเป็นพระเอกของงานนี้ ผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมได้ชิมอย่างถ้วนหน้า และทุกคนต่างออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อยลงตัวที่สุด”

นี่คือความลงตัวที่เกิดจากการสร้างสรรค์จากของดีที่มีอยู่ให้ต่อยอดไปได้อีก ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy Tourism ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งสาเหตุหนึ่งเพราะในสินค้า GI ที่จดทะเบียนแล้วทั่วประเทศจำนวน 164 สินค้านั้น มีสินค้าที่สามารถเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารถึง 128 สินค้า จึงเกิดการผสมผสานและจับคู่ขึ้น เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง
อย่างจังหวัดนครราชสีมาก็มีการจับคู่กันระหว่างกาแฟดงมะไฟและเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เพื่อทำดริปเปอร์สำหรับดริปกาแฟขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ นับเป็นการตลาดแบบ Co-Branding ที่น่าสนใจ
โดยสินค้า GI ของจังหวัดนครราชสีมาสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่จังหวัดได้กว่า 550 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำระบบ GI มายกระดับสินค้าท้องถิ่นจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน

GI หรือ Geographical Indication นั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่าคือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย คือ ตราของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้าเพื่อรับรองว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนไว้ โดยต้องปฏิบัติตามคู่มือและแผนการควบคุมนั้นแล้ว
โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญายังระบุถึงประโยชน์ของสินค้า GI ไว้ว่า
“GI เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่จะคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิของชุมชน ส่งผลให้สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในอุปกรณ์ทางการตลาดมที่สามารถยืนยันได้ถึงคุณภาพสินค้า และคุ้มครองไม่ให้พื้นที่อื่นนำชื่อไปใช้
โดยข้อมูลอ้างอิงจากกรมทรพัย์สินทางปัญญาของไทย ณ เดือน เมษายน 2564 มีสินค้าไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 6 สินค้า รวม 5 ประเทศ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป, เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ที่เวียดนาม, กาแฟดอยตุง ที่กัมพูชา, ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินโดนีเซีย และผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินเดีย โดยสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว มีทั้งสิ้น 137 รายการ ใน 76 จังหวัด ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเมินว่าสินค้า GI เหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าการตลาดให้สินค้าท้องถิ่นรวมมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท
ดังนั้นประโยชน์ของ GI หรือสินค้าที่มีศักยภาพ และเชื่อว่าจะนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นได้อีกด้วย”
ซึ่งการนำสินค้าไปขึ้นทะเบียนเป็น GI ได้นั้นล้วนแต่ยังประโยชน์ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ไม่ต่างจากสินค้าแบรนด์ชั้นนำของโลกอย่างนาฬิกาสวิส ชาดาร์จีลิ่ง พาม่าแฮม ขาหมูเยอรมัน ไวน์ฝรั่งเศส เป็ดปักกิ่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่บ่งบอกสถานที่ผู้ผลิตที่ผู้คนพูดกันจนติดปาก ซึ่งกลายเป็นว่าที่นี่คือแหล่งผลิตแรกและดีที่สุด ผู้คนก็จะเดินทางเพื่อมาชิมให้ถึงที่ มาแล้วไม่ได้ช้อป ชิม ใช้ ก็ถือว่ามาไม่ถุงเมืองๆ นั้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นและสนับสนุนการท่องเที่ยวไปด้วยโดยปริยาย
สำหรับสินค้า GI ของจังหวัดนครราชสีนั้นมีถึง 11 ชนิด นับว่ามากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย

1. น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่
เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพ รสชาติ และอัตลักษณ์โดดเด่นที่เกิดจากการปลูกในสภาพดินแดงซึ่งเป็นดินที่เหมาะต่อการปลูกน้อยหน่ามากที่สุด ส่งผลให้น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่ มีรสชาติหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอมละมุน เนื้อละเอียด เหนียว เมล็ดเล็ก

2. เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน
หมายถึง เส้นไหมดิบที่ผ่านการสาวด้วยมือ ผลิตจากตัวไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่เลี้ยงโดยใบหม่อนที่ปลูกขึ้นเองในพื้นที่ 20 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เส้นไหมพื้นบ้านอีสานเป็นสีเหลืองทอง มีความเลื่อม ความนุ่มนวล ความเหนียว และความสม่ำเสมอ สามารถนำมาทำเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่งได้

3. กาแฟดงมะไฟ
หมายถึง กาแฟอาราบิก้าที่ปลูกบนภูเขาที่ระดับความสูงตั้งแต่ 400 - 700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในพื้นที่หมู่บ้านดงมะไฟ ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ด้วยกรรมวิธีการผลิตมาตรฐานเป็นกาแฟสารและกาแฟคั่ว-บด มีปริมาณคาเฟอีนไม่เกินร้อยละ 1 ของน้ำหนัก

4. ไวน์เขาใหญ่
หมายถึง ไวน์ที่ทำจากการหมักน้ำองุ่นสดสายพันธุ์ vitis vinifera ที่ปลูก เก็บเกี่ยวและผ่านกระบวนการทำไวน์ตามมาตรฐานที่กำหนด ในขอบเขตพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์ไวน์เขาใหญ่ในอำเภอปากช่องและอำเภอวังน้ำเขียว ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ “ไวน์เขาใหญ่” เป็นไวน์ลักษณะใส ไม่มีความขุ่น มีสี กลิ่น สัมผัสในปากและรสชาติที่แสดงถึงลักษณะของพันธุ์องุ่นต่างๆ ไวน์ที่ผลิตจากองุ่นเปลือกสีขาวจะมีความหอมเหมือนผลไม้เมืองร้อน ผลไม้สุกชนิดต่างๆและดอกไม้ ไวน์ที่ผลิตจากองุ่นเปลือกสีแดงจะมีสีเข้ม มีกลิ่นเหมือนผลไม้สีแดง ลูกผลไม้เปลือกสีดำ สัมผัสในปากแสดงถึงแทนนินปานกลางถึงสูง

5. ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์
ความโดดเด่นของสินค้า คือ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ปลูกในฤดูนาปี บนพื้นที่ทุ่งสัมฤทธิ์ที่มีชั้นหินเกลือรองรับอยู่ด้านล่างของพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 อําเภอของจังหวัดนครราชสีมาทําให้ข้าวมีเมล็ดเรียวยาว มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส (วิตามินอี) ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท ฤดูกาลเพาะปลูกทำในช่วงฤดูการปลูกข้าวนาปี เดือนพฤษภาคม –เดือนสิงหาคม และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม

6. กาแฟวังน้ำเขียว
หมายถึง กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์คาร์ติมอร์ F-7 และกาแฟโรบัสต้า พันธุ์ชุมพร 2 ที่ปลูกที่ระดับความสูง 400- 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ด้วยกรรมวิธีการผลิตมาตรฐานเป็นกาแฟสาร และกาแฟคั่วบด

7. เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
หมายถึง เครื่องปั้นดินเผาชนิดไม่เคลือบที่ทำการเผาด้วยอุณหภูมิสูง เมื่อเผาแล้วมีสีของดินตามธรรมชาติ มันเงา เนื้อดินมีความแข็งแกร่ง ทนนาน เมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวาน ไม่แตกร้าว หากเป็นภาชนะบรรจุน้ำไม่รั่วซึม ซึ่งผลิตตามกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่เป็นเอกลักษณ์สืบทอดต่อกันมาของชาวบ้าน ในเขตพื้นที่ตำบลด่านเกวียน ตำบลท่าจะหลุง ตำบลท่าอ่าง และตำบลละลมใหม่พัฒนา ของอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา

8. มะขามเทศเพชรโนนไทย
หมายถึง มะขามเทศพันธุ์ฝักใหญ่ ทรงผล (ฝัก) โค้งเป็นวงกลม หรือโค้งเป็นวงซ้อนกันคล้ายสปริง เมื่อแก่มีลักษณะฝักนูนอวบใหญ่ มีรอยหยักเล็กน้อยตามตำแหน่งที่มีเมล็ด ผิวเปลือกมีสีเขียวปนแดง เนื้อกรอบ สีขาวขุ่นปนชมพู หรือสีขาวขุ่นปนแดง รสชาติหวาน มัน ปลูกในพื้นที่อำเภอโนนไทย ของจังหวัดนครราชสีมา

9. ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย
หมายถึง ผ้าไหมทอมือชนิด 2 ตะกอ ทอลายตารางแบบดั้งเดิม โดยประกอบด้วยเส้นไหม 5 สี ได้แก่ สีแดง สีดำ สีเขียว สีส้ม และสีขาว เป็นผ้าไหมที่มีความประณีตสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งผลิตในพื้นที่อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา

10. ผ้าไหมปักธงชัย
หมายถึง ผ้าไหมพื้น หรือผ้าชิ้น ทอด้วยกี่กระตุก 2 ตะกอ (ไม่รวมกี่อุตสาหกรรม) ด้วยเส้นไหมยืนและเส้นไหมพุ่งที่ผลิตในประเทศไทย มีความกว้างของผ้าไหมไม่ต่ำกว่า 40 นิ้ว เนื้อผ้าหนาแน่น มีความมันวาว สีคงทน ไม่ตก ผืนผ้าไม่มีตำหนิ โดยเป็นการทอผ้าไหมตามกรรมวิธีที่ประณีตอันเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่สืบทอดกันมา ผลิตในเขตพื้นที่อำเภอปักธงชัย ของจังหวัดนครราชสีมา

11. ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่
หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน แน่นหนึบ แห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวาน มัน ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุใน Thaialnd GI Magazine ว่า 4 ขั้นตอนการผลักดันสินค้า GI ให้สามารถเข้าสู่กระบวนการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ได้แก่
- Farming System (กระบวนการผลิตสินค้า GI) เป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่กระบวนการผลิตสินค้า GI อันเป็นต้นทางสินค้า GI ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวในแนวทางแหล่งผลิตที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติและภูมิปัญญาของผู้ประกอบการ เพื่อก่อให้เกิดสินค้าดีมีคุณภาพ เปิดประสบการณ์ในการเยี่ยมชมไปจนถึงต้นทางการกำเนิดสินค้า GI ไทยที่สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร
- Story of Food (บอกเล่าเรื่องราวสินค้า GI) นำเรื่องราวของสินค้า GI ไทย ประวัติความเป็นมาที่มีมาอย่างยาวนานจนทำให้สินค้า GI ไทยเหล่านั้นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เล่าถึงเรื่องราวเอกลักษณ์อันโดดเด่นของแต่ละตัวสินค้า ว่าแตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันจากพื้นที่อื่นๆ อย่างไร สำหรับสินค้าที่สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารประเภทอื่นๆ ก็บอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยง ความสามารถที่โดดเด่นของสินค้า GI ที่เหมาะสมจะนำไปเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารเมนูต่างๆ
- Creative Industries (GI Plus) เป็นการนำความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ มาต่อยอดสินค้า GI ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าตามแนวทาง GI Plus เพราะการนำเสนออาหารเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สะท้อนวิถีชีวิต รสนิยม ทั้งยังสามารถต่อยอดนำสินค้า GI ในกลุ่มสินค้าหัตถกรรมนำมาเป็นภาชนะที่ใส่อาหาร พร้อมสร้างเสริมอรรถรสเพิ่มเติมด้วยนวัตกรรมด้านอาหาร พ่อครัวที่มีชื่อเสียง ดนตรี การแสดง วรรณกรรมที่สามารถต่อยอดให้มื้ออาหารจากวัตถุดิบสินค้า GI ดียิ่งขึ้นไปสู่อีกระดับในการสัมผัสผ่านประสาทสัมผัสทั้ 5 ของผู้บริโภค
- Sustainable Tourism (ผลักดัน GI ไปสู่ความยั่งยืน) ผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการ GI ไทย การพัฒนาแหล่งผลิตสินค้า GI ไทยอย่างยั่งยืนบนฐานของการท่องเที่ยว อนุรักษ์ ส่งเสริมเรื่องราวท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบ GI ประกอบวัตถุดิบอื่นๆ ในท้องถิ่น การจัดการเศษอาหารเหลือทิ้ง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การปกป้องสินค้า GI ของท้องถิ่นให้เป็นอาหารสัญลักษณ์ของพื้นที่ตลอดไป
ดูเหมือนว่ากระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหารนั้นจะเป็นที่นิยมขึ้นอย่างมาก เพราะสินค้าทุกชนิดที่ขึ้นทะเบียน GI สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปชิมจนถึงที่ และถ้าพบกับเมนูแบบที่เชฟเจมส์รังสรรค์ขึ้นอีก ยิ่งสามารถเพิ่มความประทับใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วเมนูเนื้อย่างวากิวราดซอสมะขามเทศเพชรโนนไทยยังสามารถแพริ่งหรือจับคู่กับไวน์เขาใหญ่ได้อย่างลงตัวอีกด้วย
และไม่เท่านั้น เมื่อชิมเมนูสุดประทับใจแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่อยากเห็นสถานที่ผลิต แหล่งที่เป็นต้นกำเนิดของสินค้า GI ทำให้เกิดการเยี่ยมชมฟาร์มหรือเมืองของสินค้านั้น นับเป็นกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างรายได้ให้กับชุมชนผู้ผลิตสินค้าได้อีกด้วย